พ่อแม่กับการสอนให้ลูกมีทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัย

0

เด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี เป็นช่วงที่เด็กใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ต้องปรับตัวทั้งด้านการเรียน กฎระเบียบและสังคม เด็กจะพัฒนาความสามารถอย่างรวดเร็วทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด การใช้ภาษาและการแก้ปัญหา จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสอนให้ลูกมีทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัย  

คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน เด็กวัยเรียน 6-12 ปี โดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงหลักการในการสอนเด็กให้หลีกเลี่ยงจุดอันตราย ปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัย และมีทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัย สรุปความได้ดังนี้

1. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดเสี่ยง และสถานการณ์อันตราย สามารถค้นหาจุดเสี่ยงได้เองรวมทั้งร่วมแก้ไขความเสี่ยงและกำหนดกฎแห่งความปลอดภัยร่วมกัน เช่น ไม่ขับขี่จักรยานยนต์ ไม่ขี่จักรยานบนถนนที่มีรถพลุกพล่าน ไม่เล่นบนถนน ไม่ว่ายน้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยว ไม่เล่นปืน วัตถุระเบิด ไม่เล่นรุนแรง ไม่เล่นไฟ ไม่ปีนป่ายที่สูง ไม่รับของหรือไปกับคนแปลกหน้า ขออนุญาตเมื่อต้องการออกนอกบริเวณที่ปลอดภัย

2. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบุคคลอันตราย เช่น เพื่อนเกเร บุคคลเสพยาเสพติด บุคคลที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ บุคคลที่เสพติดทางเพศ หรือเมาสุรา เป็นต้น และรู้จักป้องกันตนเองจากภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะภัยคุกคามทางเพศ เช่น ไม่แต่งกายล่อแหลม ไม่เดินทางในยามวิกาลโดยลำพัง

3. สร้างความไว้วางใจ พูดคุย และให้เล่าเรื่องเมื่อมีผู้อื่นมากระทำหรือปฏิบัติโดยมิชอบ เช่น สัมผัสร่างกายในส่วนที่ควรปกป้องโดยเฉพาะหน้าอก ก้น และอวัยวะเพศ เป็นต้น

4. ฝึกสอนให้เด็กรู้จักการปฏิเสธ ไม่ยอมทำตามแม้จะเป็นคนใกล้ชิด เมื่อไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ถูกชักชวนให้ปฏิบัตินั้นจะนำไปสู่อันตรายหรือไม่ ฝึกให้มีทักษะการจัดการความขัดแย้งอย่างเหมาะสมหลายรูปแบบโดยไม่ใช้ความรุนแรง เช่น เช่น รับฟังความคิดเห็น ยอมรับผิด ปรับปรุงตัว เป็นต้น

5. ฝึกให้หลีกเลี่ยงหรือขอความช่วยเหลือเมื่อถูกคุกคามรุกเร้าทางร่างกายหรือทางเพศ

6. ฝึกให้คุมอารมณ์ คุมตนเองหรือหัดระบายออกทางเพศอย่างเหมาะสม เช่น การออกกำลังกายเล่นดนตรี ศิลปะ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสื่อลามก วางตัวเหมาะสมกับคนแปลกหน้า

7. เด็กต้องได้รับการสอนและฝึกทักษะเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น ฝึกหัดว่ายน้ำให้เป็น การขึ้นเรือ การช่วยคนตกน้ำ การขี่จักรยาน การใช้หมวกนิรภัย เข็มขัดนิรภัย การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมืองานบ้าน หรืองานอื่น ๆ ที่เด็กต้องปฏิบัติ

8. เด็กต้องได้รับความรู้ สอนทักษะการป้องกันอันตรายและการหนีจากภัยธรรมชาติที่พบได้บ่อยในเขตชุมชน เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ คลื่นยักษ์สึนามิ เป็นต้น โดยฝึกให้หัดหนีไฟ การตะโกน ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ รู้จักใช้โทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉิน (191, 1669) เป็นต้น

9. สำหรับเด็กโตต้องได้รับการสอนวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การปฏิบัติการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (การเป่าปาก นวดหัวใจ การกดท้องเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากหลอดลม)

แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าลูกจะเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่สอน แต่ขอให้อดทน เพราะผลลัพธ์ที่ได้ย่อมคุ้มค่าเสมอ เมื่อลูกสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น และตื่นตัวกับภัยอันตรายใกล้ตัว สิ่งที่ตามมาก็คือความปลอดภัยของลูกนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *