ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตนำมาซึ่งประโยชน์มากมาย แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดังกล่าวก็ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงของคนยุคนี้ในโลกโซเชี่ยล เช่น การโพสต์ภาพหรือถ่ายทอดสดทำร้ายตัวเอง ไม่อยากให้คนในครอบครัวตกเป็นเหยื่อก็ต้องรู้จักวิธีรับมือนะคะ…
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า
ทุกคนในโซเชียลมีเดียสามารถช่วยป้องกันความสูญเสียจากการไลฟ์ทำร้ายตัวเอง ได้ โดยยึดหลัก 5 อย่า 3 ควร
ไปดู หลัก 5 อย่า 3 ควร กันดีกว่าค่ะ
5 อย่า
- อย่าท้าทาย ไม่สื่อความหมายต่างๆ เช่น ทำเลย, กล้าทำหรือเปล่า เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้เขาทำ
- อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย ตำหนิ ด่าว่า เช่น โง่, บ้า หรือตำหนิอื่นๆ เพราะจะยิ่งเพิ่มความคิดทางลบและเพิ่มโอกาสทำมากยิ่งขึ้น
- อย่านิ่งเฉย การนิ่งเสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม
- อย่าแชร์ หรือบอกต่อ หรือเผยแพร่ข้อความ หรือภาพการทำร้ายตนเองของบุคคลนั้น เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นที่คิดจะทำร้ายตนเองเกิดการเลียนแบบได้เข้าใจผิดว่าเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะกับผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งหากผู้รับชมเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดคิดว่า การทำร้ายตนเองเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย
- อย่าติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต เช่น เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เก็บไปเป็นความเครียดฝังใจ ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต
3 ควร
- ควรห้ามหรือขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะโดยทั่วไปผู้ที่คิดทำร้ายตนเอง ส่วนใหญ่จะลังเลใจ
- ควรชวนคุย ประวิงเวลาให้มีโอกาสทบทวน โดยการถามถึงความทุกข์ รับฟัง และไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียว คิดถึงคนที่รักและเป็นห่วง แนะทางออกอื่นๆ
- ควรติดต่อหาความช่วยเหลือ เช่น บุคคลที่ใกล้ชิดเขาที่สุดขณะนั้น หรือ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทร.191 สมาคมสมาริตันส์ หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เข้าสู่ระบบบริการโดยเร็ว
“ครอบครัว” มีบทบาทอย่างมากในการป้องกันความสูญเสียจากการทำร้ายตัวเอง เพราะหากคนในบ้านมีความสัมพันธ์ที่ดี เข้าใจกัน หมั่นสังเกตและดูแลกัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ได้ค่ะ