วัยรุ่น ถือเป็นช่วงสุดท้ายของการรู้จักและสร้างตัวตนก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพที่ชัดเจนและมั่นคงตามหลักจิตวิทยา เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและเกิดความเครียดได้ง่าย ด้วยหลายๆ ปัจจัยอาจนำไปสู่การแสดงออกทางความคิด อารมณ์ พฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวและคนรอบข้างไม่ควรปล่อยผ่าน
สาเหตุของความก้าวร้าวมักเกิดจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยส่วนตัวที่มีปัญหาการจัดการอารมณ์ การจัดการความโกรธ ความใจร้อนหุนหันพลันแล่น หรือเป็นโรคที่ยับยั้งชั่งใจ คุมตัวเองยาก ปัจจัยจากครอบครัวที่มีความก้าวร้าวทางร่างกาย วาจา อารมณ์ ทำให้เรียนรู้ว่าสามารถแก้ไขความไม่พอใจด้วยความก้าวร้าวได้ หรืออาจดูแลตามใจจนเด็กไม่ได้ฝึกควบคุมตนเอง เมื่อไม่พอใจก็แสดงความก้าวร้าวใส่ผู้อื่น ปัจจัยทางโรงเรียน สังคมรอบตัว เช่น การกลั่นแกล้งรังแก การอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่นิยมความรุนแรง การใช้สารเสพติด เป็นต้น รวมทั้งปัจจุบันยังมีปัจจัยด้านสื่อออนไลน์ ที่สามารถสร้างอารมณ์การเกิดความรุนแรงได้ง่าย ดังนั้น การแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงจึงต้องแก้ทุกปัจจัยไปพร้อมกัน
ข้อแนะนำในการทำให้เด็กรู้อารมณ์และจัดการอารมณ์
1. ผู้ใหญ่ควรควบคุมให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด หลังจากที่เด็กอารมณ์สงบแล้ว ควรพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจจนแสดงความก้าวร้าว เพื่อให้เด็กได้ระบายออกเป็นคำพูด
2. ควรเริ่มฝึกฝนเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง เช่น ฝึกให้แยกตัวเมื่อรู้สึกโกรธ
3. ฝึกให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจ มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ขณะที่ครอบครัวต้องให้การดูแลอย่างเหมาะสม คือ
1. ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม การลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น เด็กอาจหยุดพฤติกรรมชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก และอาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้
2. ไม่ควรมีข้อต่อรองกันขณะเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว
3. หลีกเลี่ยงการตำหนิว่ากล่าวเปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เด็กมีปมด้อย รวมทั้งไม่ข่มขู่ หลอกให้กลัว หรือยั่วยุให้เด็กมีอารมณ์โกรธ เนื่องจากเด็กจะซึมซับพฤติกรรมและนำไปใช้กับคนอื่นต่อ
อาการที่เข้าข่ายว่าเด็กอาจป่วยเป็นโรคจิตเภท และควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับประเมินทางสุขภาพจิต
1. พฤติกรรมและอุปนิสัยที่เปลี่ยนไปหรือรุนแรงกว่าปกติ เช่น ก้าวร้าว พูดคำหยาบคาย ทำลายข้าวของ ไม่ไปโรงเรียน ใช้ยาเสพติด ขโมย โกหก แยกตัว ถูกรังแก นอนไม่หลับ
2. มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด อารมณ์ หงุดหงิดง่าย เศร้า กังวล กลัว ซึมเศร้า
3. ความคิด ย้ำคิดย้ำทำ คิดอยากทำร้ายตนเอง หรือทำลายสิ่งของ คิดอยากทำร้ายผู้อื่น หยุดความคิดกังวลไม่ได้
4. มีความคิดหวาดระแวง ซึ่งอาจคล้ายกับอาการวิตกกังวล จนเกินกว่าเหตุ
5. ความสามารถลดลงหรือถดถอย เช่น ผลการเรียนแย่ลง
6. มีความเชื่อในสิ่งที่แปลกไป เช่น สนใจศาสนาอย่างลึกซึ้งกว่าปกติ, เชื่องเรื่องจิตวิญญาณมาก
ทั้งนี้ หากพบว่าเด็กมีพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากอย่าปล่อยผ่าน ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์ ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323