การสร้างวินัยเชิงบวก เป็นการสอนและฝึกฝนลูกให้มีพฤติกรรมตามที่เราคาดหวังด้วยการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์สอดคล้องกับธรรมชาติการรับรู้และการเรียนรู้ของเด็ก โดยมีจุดมุ่งหมายให้ลูกรู้จักควบคุมพฤติกรรมตัวเองโดยไม่ต้องบังคับ เพื่อให้เด็กเกิดการปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นและต่อเนื่องไปในอนาคต
พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กจะรับรู้สิ่งที่เราสื่อสารได้ดีเมื่อเราตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย (ควบคุมโดยสมองส่วนสัญชาตญาณ) และจิตใจ (บัญชาการโดยสมองส่วนอารมณ์) ของลูกก่อน แล้วสมองส่วนหน้าที่มีศักยภาพคิดด้วยเหตุผลของลูกจึงจะเปิดรับสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร ทั้งนี้เด็กจะเรียนรู้สิ่งที่เราสื่อสารได้ดีเมื่อเราสร้างและรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กก่อน แล้วสมองของเด็กจึงจะพร้อมทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราสื่อสาร
หลักการสำคัญในการสร้างวินัยเชิงบวก
• มุ่งสอน และ สร้างทักษะ ซึ่งให้ผลระยะยาวไม่ใช่แค่ให้ หยุดพฤติกรรม ที่ให้ผลแค่ช่วงเวลานั้น ฉะนั้นการสื่อสารของพ่อแม่ต้องมุ่งไปที่การบอกให้เห็นภาพชัดเจนว่าอยากให้ทำอะไรที่เหมาะสม แสดงให้ลูกได้เรียนรู้ถึงการมีพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยการตีความหมายจากการกระทำของตัวเขาเอง เช่น เมื่อลูกเล่นกับเพื่อนรุนแรงแทนที่จะพูดว่า “ทำไมไปทำเพื่อนเจ็บ” เทคนิควินัยเชิงบวกพูดว่า “ทำแบบนี้แปลว่าไม่เล่นแล้ว”
• มุ่งสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและไม่กระตุ้นให้เกิดการต่อต้านจากเด็ก จึงให้ความสำคัญกับการเลือกใช้คำพูดและการสื่อสารกับลูกมากเป็นพิเศษ เพราะคำพูดเหล่านี้จะกลายเป็นเสียงในหัวของเขาที่มีไว้เพื่อบอกและกำกับตนเองต่อไป
• สื่อสารให้ลูกรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขาเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านและยังสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันด้วย โดยการแสดงถึงความเข้าใจในความรู้สึกของลูก อนุญาต รัก สนใจและเป็นห่วงเสมอ
• จริงจังกับการฝึกฝน แม้จะเน้นการสื่อแบบใจดีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แต่ก็ไม่ผ่อนไปตามใจเด็ก
• ต้องทำอย่างต่อเนื่อง การสื่อสารเพื่อสร้างทักษะใดๆ ก็ตามต้องมีความต่อเนื่องและใช้เวลาเพื่อให้เด็กเรียนรู้และฝึกฝนจนเกิดเป็นพฤติกรรมที่เป็นลักษณะนิสัย
‘สอน’ ไม่ ‘สั่ง’
• “ห้าม-ไม่-อย่า-หยุด” เป็นคำต้องห้ามที่ไม่ควรใช้สื่อสารกับลูก เพราะเป็นคำที่ให้ความรู้สึกถูกขู่ บังคับ และกระตุ้นให้เกิดการต่อต้าน ความรู้สึกไม่เป็นมิตร ควรบอกตรงๆ ไปที่พฤติกรรม หรือสิ่งที่อยากให้ลูกทำ เช่น ไม่อยากให้ลูกตื่นสาย ก็บอกว่า “ตื่นเช้าๆ นะลูก”
• ระมัดระวังเรื่องการใช้น้ำเสียงและสีหน้าขณะพูดคุยกับลูก ต้องอ่อนโยนราบเรียบเป็นปกติและเป็นมิตรตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาโมโห เพราะการเป็นต้นแบบเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องระลึกถึงเสมอในการสร้างวินัยเชิงบวกให้ลูก
คำพูดและการกระทำของพ่อแม่สัมพันธ์กับพลังงานในใจ พฤติกรรมและการพัฒนาตัวตน บุคลิกภาพของลูก ทั้งยังสัมพันธ์กับสัมพันธภาพและความสุขของครอบครัวซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพ่อแม่ทุกคน