สืบเนื่องจากความแรงของละคร “เลือดข้นคนจาง” ที่มาพร้อมสายสัมพันธ์อันซับซ้อนในครอบครัวใหญ่ของคนไทยเชื้อสายจีน เราเลยขอเติมความรู้ให้คนในครอบครัวกับ กฎหมายน่ารู้เกี่ยวกับ “มรดกครอบครัว” มาดูซิว่า เมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิต แล้วใครบ้างที่จะมีสิทธิได้รับมรดกจากคนๆ นั้น
ตามกฎหมายมรดก กำหนดไว้ว่า คนที่จะได้มรดกนั้นมี 2 กรณีคือ
- เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม
- หรือเป็นผู้รับมรดกโดยผลทางกฎหมาย ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก แม้ว่าจะไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ก็ตาม
กรณีที่ 1 ผู้รับมรดกตามพินัยกรรม
ผู้รับมรดกตามที่ผู้ตายระบุไว้ในพินัยกรรม โดยพินัยกรรมนี้จะมีผลตามกฎหมาย เมื่อทำตามรูปแบบที่กำหนดไว้
กรณีที่ 2 ผู้รับมรดกโดยผลทางกฎหมาย
ได้แก่ ทายาทโดยชอบธรรม โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทดังนี้
- ทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรส ได้แก่ บุคคลที่จดทะเบียนสมรสกับเจ้าของมรดก ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ยกเว้นคู่สมรสที่เกิดจากการสมรสซ้อน
- ทายาทโดยธรรมประเภทญาติ ดังนี้
2.1 ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตร หลาน เหลน เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานที่อยู่ในขณะถึงแก่ความตาย บุตรเท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับมรดก เว้นแต่ว่าเจ้าของมรดกไม่มีมีบุตรสืบสันดาน หลานก็จะได้รับสิทธิแทน และเหลนจะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อ ไม่มีบุตร และหลาน
2.2 บุตรต้องชอบด้วยกฎหมายของมารดาหรือบิดา ที่เกิดจากการรับรองบุตร หรือทะเบียนสมรส บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรนอกสมรสจะไม่มีสิทธิในการได้รับมรดก เว้นแต่ว่าบิดาจะทำให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายภายหลัง เช่น บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันหลังเด็กเกิด บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลพิพากษาว่าฝ่ายชายเป็นบิดา
2.3 บุตรบุญธรรม ถึอว่าเป็นผู้สืบสันดานเช่นเดียวกัน และชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของมรดก
2.4 บิดามารดาของเจ้าของมรดก โดยต้องเป็นผู้ที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ จดทะเบียนสมรสกับบิดาหรือมารดาของผู้ตาย มีการจดทะเบียนเป็นบุตรของบิดาหรือมารดา แต่บิดาหรือมารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบุตรซึ่งเป็นเจ้าของมรดก
2.5 พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือมีบิดาหรือมารดาร่วมกัน นอกจากนี้ยังมี ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
สรุปง่ายๆ คือ ถ้าเจ้าของมรดกทำพินัยกรรมยกมรดกให้ ผู้รับก็คือคนที่ปรากฏรายนามในพินัยกรรมนั้นๆ แต่ยังมีทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ได้สั่งเสียไว้ ทรัพย์สินดังกล่าวจะตกทอดให้กับทายาทโดยชอบธรรม