อย่าละเลย 4 เรื่อง ป้องกัน “ผู้ป่วยจิตเวช” อาการกำเริบ

0

โรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังและเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยควบคุมตนเองได้ไม่ดี ฉะนั้นนอกจากการไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ลดความเสี่ยงที่จะทำให้อาการกำเริบ คือการดูแลด้วยเข้าใจอย่างถูกวิธีจากครอบครัวหรือคนรอบข้าง

สำหรับผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 600,000 คนทั่วประเทศ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 2 ใน 3 กินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง อาการดีขึ้นแล้วและอยู่กับครอบครัว คนในครอบครัวจึงต้องช่วยกันสอดส่องดูแลผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามที่แพทย์กำหนด โดยข้อมูลจาก น.ต.นพ.บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า…

4 เรื่องที่ญาติและครอบครัวไม่ควรละเลย

ป้องกัน “ผู้ป่วยจิตเวช” อาการกำเริบ

do-not-neglect-4-things-to-prevent-psychiatric-patients-relapse

  1. ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  2. ห้ามเสพสารเสพติด เนื่องจากทั้งฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และสารเสพติดจะไปกระตุ้นสมองผู้ป่วยโดยตรง มีผลต้านกับฤทธิ์ของยาที่แพทย์ใช้รักษาควบคุมอาการ ทำให้อาการกำเริบได้ง่าย ไม่สามารถควบคุมตนเองยับยั้งชั่งใจได้
  3. ห้ามอดนอน
  4. ห้ามขาดยา ซึ่งปัญหาขาดยานั้นพบได้บ่อย ผู้ป่วยมักจะเข้าใจผิดว่าหลังกินยาแล้วอาการดีขึ้น คิดว่าตัวเองหายแล้ว จึงไม่กินยาต่อ

ด้าน นพ.กิตต์กวี  โพธิ์โน  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า

ญาติควรดูแลให้ผู้ป่วยจิตเวชนอนหลับให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง อย่าให้อดนอนอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้สารเคมีสื่อประสาทในสมองเสียสมดุล และเป็นตัวก่อความเครียด กระตุ้นให้อาการกำเริบได้ 

สัญญาณเตือนของอาการกำเริบของผู้ป่วยจิตเวชที่สำคัญมี 6 อาการ ได้แก่ นอนไม่หลับ หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย มีความคิดแปลกๆ พฤติกรรมก้าวร้าว หวาดระแวง หากพบผู้ป่วยมีอาการปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้ญาติรีบพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที ไม่ต้องรอดูอาการให้เนิ่นนาน หรือ โทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต  1323

ทั้งนี้ ควรหากิจกรรมให้ผู้ป่วยจิตเวชทำร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เช่น ร้องเพลง หรือไปเที่ยวด้วยกันได้ เพื่อให้รู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  สร้างความเพลิดเพลิน มีความสุข และไม่เครียดค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *