เชื่อว่ามีคู่สมรสทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและนอกกฎหมายที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันน้อยคู่นักที่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายการครองคู่ โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ “สินสมรส” บางคู่กว่าสะดุดหูกับคำนี้ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหากันแล้ว อย่างกรณีที่ตกเป็นข่าวเมื่อไม่นานนี้ เมื่อภรรยาอุ้มลูกน้อยแจ้งตำรวจว่าสามีถูกสามีขอเลิกหลังฝ่ายชายถูกล็อตเตอรี่ถึง 30 ล้านบาท
กรณีนี้ถือเป็นสินสมรสหรือไม่ แล้วสินสมรสคืออะไร เราควรรู้ไว้เพื่อรักษาสิทธิ์นะคะ
เมื่อชายหญิงตกลงปลงใจเป็นสามีภรรยากัน และผ่านการจดทะเบียนสมรสแล้ว ความผูกพันนี้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา 2 ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์ส่วนตัว คือ อยู่กินกันแบบสามีภรรยา ต้องอุปการะเลี้ยงดูกัน และความสัมพันธ์ทางด้านทรัพย์สิน ซึ่งแยกเป็น “สินสมรส” และ “สินส่วนตัว” …
สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สิน ข้าวของส่วนตัวต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ก่อนเดิม ก่อนแต่งงาน
สินสมรส คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มาหลังแต่งงาน และสามีภรรยาเป็นเจ้าของร่วมกัน
ตามกฎหมายได้แจกแจงไว้อย่างละเอียดว่า สินส่วนตัว มี 4 ประเภท คือ
- ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน เงินทอง
- ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือได้มาโดยเสน่หา
- ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัวเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เครื่องมือประกอบอาชีพ
- ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น จะถือเป็นสินส่วนตัวของผู้หญิง
นอกจากนี้ ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น เปลี่ยนสภาพไป เช่น นำไปขายและได้เงินมา นำไปแลกหรือซื้อของอื่น ให้ถือว่าเงินหรือของที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวด้วย ส่วนสินสมรส แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ…
- ทรัพย์ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส
- ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรม โดยระบุว่าให้เป็นสินสมรส
- ทรัพย์สินที่เป็นกำไรสุทธิ หรือดอกผลของสินส่วนตัว
สิทธิการจัดการทรัพย์สิน กฎหมายถือให้ผู้เป็นเจ้าของมีอำนาจจัดการทรัพย์สินส่วนตัวได้โดยลำพัง สำหรับสินสมรส ถือเป็นทรัพย์สินร่วมกันคนละครึ่ง จึงให้สองฝ่ายจัดการร่วมกัน
นี่เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น ในทางกฎหมายนั้นเรื่องสินสมรสจะมีรายละเอียดสำหรับใช้พิจารณาปลีกย่อยออกไปอีกค่ะ รู้ไว้บ้างยังดีกว่าไม่รู้เลยนะคะ