สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของสารพัดโรค เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นต้น นอกจากส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพของผู้ดื่มสุราแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความสุขของสมาชิกในครอบครัวด้วย ดื่มไปก็ไร้ประโยชน์ฉะนั้นมาหาวิธีดีๆ เพื่อเลิกเหล้ากันค่ะ
ผลสำรวจล่าสุดของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ในปี 2558 พบว่า ประชาชนอายุ 15 – 79 ปี ร้อยละ 36 ดื่มสุราในรอบ 1 ปีก่อนสำรวจ ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 3 – 5 เท่าตัว มีผู้ที่ดื่มหนัก คือ ดื่มครั้งละมากกว่า 4 – 5 แก้วมาตรฐานร้อยละ 14
8 สูตรเด็ดเลิกดื่มเหล้าถาวร โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)
- ต้องตั้งใจจริง
- ตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกเพื่อใคร เช่น เพื่อสุขภาพของตนเอง ลูก ภรรยา พ่อแม่ ครอบครัว เป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนนิสัยการดื่ม เช่น ผู้ที่เคยดื่มสุราเป็นประจำอาจเลิกทันทีได้ยาก ให้ลองใช้วิธีดังต่อไปนี้ ซึ่งจะทำให้ดื่มน้อยลง เช่น ดื่มสุราพร้อมกับรับประทานอาหาร หมั่นดื่มน้ำเปล่าควบคู่ไปกับการดื่มสุรา เปลี่ยนขนาดของแก้วจากแก้วใหญ่เป็นแก้วเล็ก ดื่มเครื่องดื่มที่มีดีกรีต่ำกว่าทดแทนไปก่อนในระยะแรก
- ตั้งเป้าหมายว่าจะลดปริมาณการดื่มให้น้อยลงไปเรื่อยๆ จนงดในที่สุด
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ปัจจัยแวดล้อมความเสี่ยงที่ทำให้เราดื่มเหล้าได้ง่ายขึ้น ได้แก่ ช่วงเวลาหลังเลิกงาน วันเงินเดือนออก โอกาสพิเศษต่างๆ การไปเที่ยวผับ หรือร้านอาหาร สถานบันเทิง การชักชวนจากกลุ่มเพื่อนที่ดื่มจัด รวมถึงสาเหตุต่างๆ ที่นำไปสู่อาการเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ เศร้า เครียด ฯลฯ
- ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมอื่นแทนการสังสรรค์ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ทำบุญ เป็นต้น
- ฝึกการปฏิเสธให้เด็ดขาด เช่น ถ้าเพื่อนชวนให้ดื่มสุรา ให้บอกว่าหมอห้ามดื่ม, สัญญากับลูกไว้, ไม่ว่างต้องรีบไปทำธุระ เป็นต้น
- หาที่พึ่งทางใจ รวมถึงหากำลังใจจากคนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ คนรัก ลูก เพื่อนสนิท หรือคนที่สามารถให้คำแนะนำดีๆ แก่เราได้
ทั้งนี้คนในครอบครัวมีส่วนช่วยได้มากทั้งในแง่การดูแลและการให้กำลังใจสมาชิกที่ต้องการเลิกดื่มสุรา แต่หากไม่สามารถเลิกสุราได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านค่ะ