ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมไทยปัจจุบันโดยเฉพาะสังคมคนเมือง ทำให้บทบาทหน้าที่ระหว่างพ่อแม่กับลูกเปลี่ยนแปลงไป สังคมเร่งรีบมากขึ้นพ่อแม่ย่อมมีเวลาใกล้ชิดกับลูกน้อยลง การอบรมลูกลดลง นอกจากนี้เทคโนโลยีการสื่อสาร ยังแบ่งแยกเวลาส่วนรวมของครอบครัวที่จะได้อยู่ร่วมกัน ส่งผลให้สมิกในครอบครัวขาดการปฏิบัติสัมพันธ์ที่มั่นคงแน่นแฟ้นต่อกัน
ผลสังเกตที่เห็นได้ชัดที่สุดมักปรากฏอยู่ที่เด็ก เด็กที่เติบโตขึ้นมาอย่างเปราะบางและอ่อนไหว พร้อมที่จะไหลไปกับกระแสวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อปรับตัวไม่ทันเด็กบางคนตัดสินใจหนีปัญหาหรือหันไปหาที่พึ่งทางใจจากคนนอกครอบครัว นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์เมื่อยังไม่พร้อม การใช้ยาเสพติด หรือแม้แต่หุนหันปิดประเด็นความยุ่งยากทั้งมวลด้วยการฆ่าตัวตาย …เมื่อสาเหตุเกิดจากครอบครัว ดังนั้นเราก็ควรใช้ครอบครัวเยียวยารักษา ตามที่รู้จักกันในชื่อ…
“ครอบครัวบำบัด”
ในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นใช้วิธีครอบครัวบำบัด เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ปัจจุบันนี้มีให้บริการทั้งในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ศูนย์สุขวิทยาจิต(สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น) และในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เช่น ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาควิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
โดยทั่วไปการรักษาโดยใช้ครอบครัวบำบัดจะใช้เวลาในการบำบัดประมาณ 45 นาที ทำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนช่วงเวลาในการทำครอบครัวบำบัด ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายที่ต้องการแก้ไข ความรุนแรงของปัญหา และการให้ความร่วมมือของสมาชิกในครอบครัว เช่น ถ้าต้องการแก้ไขการสื่อสารอาจจะทำเพียง 8-10 ครั้ง แต่ถ้ามุ่งแก้ไขที่โครงสร้างครอบครัวอาจต้องอาศัยระยะเวลานานกว่านั้น
ครอบครัวบำบัดที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่
บำบัดโดยปรับเปลี่ยนโครงสร้าง (Structural Family Therapy)
บำบัดโดยใช้กลยุทธในการปรับเปลี่ยน (Strategic Family Therapy)
บำบัดโดยปรับปรุงการติดต่อสื่อสาร (Communication Family Therapy)
บำบัดชนิดผสมผสาน (Integrative Family Therapy)
การบำบัดแต่ละวิธีความเหมาะสมกับปัญหาต่างๆกัน ผู้บำบัดซึ่งอาจจะเป็นนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะพิจารณาจากลักษณะปัญหา การตอบสนองของสมาชิกในครอบครัว เพื่อเลือกวิธีการบำบัดที่เหมาะที่สุดมาใช้ ซึ่งการบำบัดโดยใช้วิธีปรับเปลี่ยนโครงสร้างนับเป็นวิธีที่แพร่หลายมากที่สุดวิธีหนึ่ง
แม้กระบวนการของครอบครัวบำบัดจะมีอีกหลากหลายวิธี แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการให้ทุกคนในครอบครัวมีโอกาสรับรู้ถึงมุมมองของสมาชิกคนอื่นๆ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนมุมมองและปรับวิธีการแสดงออกที่อาจส่งผลกระทบต่อสมาชิกคนอื่นให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุลและยอมรับได้ค่ะ