หลายคนคงเคยได้ยินว่า การพูดคุยกับลูกเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นเสมือนการเชื่อมสายสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้เข้าใจกันยิ่งขึ้น พอได้ยินได้เห็นประโยคนี้ บางคนก็แย้งในใจว่าถ้าลูกอยู่ในวัยอื่น การพูดคุยกันคงมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่กับเบบี๋วัยทารกที่ยังพูดไม่ได้ ต่อข้อสงสัยนี้ เรามีคำตอบค่ะ หนังสือ สิ่งเล็กๆ ที่สร้างโลก โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ระบุเหตุผลของการคุยกับลูก
ทำไมการคุยกับลูกถึงสำคัญ?
- “ลูกเรียนรู้ภาษา” ผ่านการเลียนแบบคำที่พ่อแม่ใช้ ผ่านบทสนทนาต่างๆ ที่ได้โต้ตอบกัน ยิ่งเราคุยกับลูกมากเท่าไหร่ ลูกก็ยิ่งเพิ่มคลังคำศัพท์ และเพิ่มทักษะการสื่อสารมากขึ้นเท่านั้น
- “กระตุ้นสมอง” พ่อแม่ที่หมั่นเล่า หมั่นคุย หมั่นตั้งคำถาม จะช่วยให้ลูกได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดยืดหยุ่น และคิดต่อยอดได้ดี เด็กฉลาดเพราะมีโอกาสลับสมองบ่อย
- “เพิ่มความรู้” ความรู้ไม่ได้มาจากการอ่านตำราเท่านั้น แต่มาจากการคุยกันก็ได้ด้วยนะ สมองของเด็กนั้นเปรียบเสมือนคลังสินค้าที่กว้างใหญ่ และขยายขนาดได้ไม่มีขีดจำกัด ขยันเล่า ขยันสอน ขยันเติมสิ่งดีๆ เข้าไปเถิด จะเกิดผล
- “เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น” การชวนลูกคุยเพื่อให้ลูกแสดงความคิดเห็นของตัวเอง บอกอารมณ์ของตัวเองออกมาให้ได้ สิ่งนี้ทำให้ลูกเกิดการยอมรับตัวเอง รู้จักปลดปล่อยความรู้สึก และนำไปสู่การยอมรับและเข้าใจอารมณ์ผู้อื่นต่อไป
- “รู้จักสื่อสาร” อยากให้ลูกเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดีของสังคม พ่อแม่ต้องช่วยกันฝึกฝนตั้งแต่วันนี้นะจ๊ะ โดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และสอนผ่าน การชวนลูกคุยนี่ล่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และการแสดงความคิดที่แตกต่างกันด้วยเหตุผลไม่ใช้อารมณ์ ฝึกลูกของเราให้กล้าคิดกล้าพูดแต่ไม่ก้าวร้าว
อย่าคิดว่า ลูกยังเด็กคงไม่รู้เรื่อง คงไม่เข้าใจ จริงๆแล้วในชีวิตประจำวัน และกิจกรรมต่างๆ ที่ทำร่วมกัน เสียงและคำพูดของพ่อแม่มีผลต่อความรู้สึก ความคิด และการเรียนรู้ของลูกเสมอค่ะ