ด่างขาว หรือ Vitiligo
เป็นโรคผิวหนังที่พบในเด็กที่กำลังจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พบได้น้อยในเด็กเล็ก แต่ก็มีรายงานพบด่างขาวในเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
ซึ่งส่วนหนึ่งจะมีประวัติครอบครัวที่เป็นด่างขาว สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดสีผิว (melanocyte) ถูกทำลาย ในผู้ใหญ่มักสัมพันธ์กับโรคของระบบออโตอิมมูน เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน และโรคโลหิตจาง
ลักษณะของด่างขาว
- มีผื่นจะเป็นวงสีขาว อาจมีขอบเรียบหรือขอบหยัก
- พบได้ทุกบริเวณของร่างกาย โดยจะพบมากในบริเวณที่โดนแสงแดด
- มักพบบริเวณใบหน้า รอบดวงตา ปลายนิ้วมือ และยังทำให้ขนที่อยู่บริเวณที่เป็นด่างขาวมีสีขาว
- มีลักษณะต่างจากกลาก เกลื้อน หรือกลากน้ำนม ที่ขนขึ้นตรงจุดๆ นั้นจะมีสีน้ำตาลปกติในเด็กๆ ที่แยกลักษณะผื่นได้ไม่ชัด อาจต้องใช้เครื่อง Wood’s lamp ตรวจดูเพิ่มเติม
- ปกติแล้วผู้ป่วยเป็นด่างขาวไม่ต้องใช้การตรวจทางห้องปฎิบัติการ ยกเว้นในรายที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคออโตอิมมูน
วีธีรักษาด่างขาว
- ทายาคอร์ติโคสเตียรอยด์
ได้ผลในคนไข้บางราย แต่ต้องในปริมาณยาที่เหมาะสม เนื่องจากยามีผลข้างเคียงจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง
- ใช้ยากระตุ้นการทำงานและการแบ่งตัวของเซลล์
ช่วยสร้างเม็ดสีเมื่อได้รับแสงอัลตราไวโอเลต โดยทายาหรือรับประทานยาแล้วไปตากแดดหรือฉายแสง
- ให้ยาในกลุ่ม tacrolimus และ pimecrolimus
ใช้ได้ผลในการรักษาด่างขาวบริเวณใบหน้าและคอ
- การฉายแสงอาทิตย์เทียม
โดยใช้รังสียูวีกระตุ้นเซลล์สร้างสีให้ทำงาน การรักษามีแบบที่ใช้การทายาหรือกินยา แล้วไปฉายแสงยูวีเอ (Photochemotherapy PUVA) ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง เช่น แสบ คัน และมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง จึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี หรืออาจใช้การรักษาโดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตบี ชนิดความยาวคลื่นแคบ (Narrow band UVB therapy) หรือการใช้เลเซอร์ (Excimer Laser)
- การปลูกถ่ายผิวหนัง
ทำโดยตัดผิวหนังบริเวณที่เซลล์สีปกติมาปลูกบริเวณที่เป็นด่างขาว (skin grafts) การรักษาวิธีนี้ทำได้ค่อนข้างยากและต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
โรคด่างขาวในเด็กจะรักษาค่อนข้างยากค่ะ มีโอกาสน้อยที่จะหายได้เองตามธรรมชาติ ใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และอาจมีผลข้างเคียงจากยาได้ สิ่งสำคัญคู่ไปกับการรักษา คือต้องหลีกเลี่ยงแดดจัดๆ ทาครีมกันแดด กางร่ม หรือใส่เสื้อแขนยาว เพราะบริเวณที่เป็นด่างขาว มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังได้มากกว่าบริเวณอื่นค่ะ