วิตามินซีเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายในกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจนในเนื้อเยื่อของกระดูกฟัน เหงือก และหลอดเลือด ร่างกายเราไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากสารอาหาร หากพ่อแม่ละเลยไม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินของลูกน้อย อาจทำให้เบบี๋เกิดภาวะขาดวิตามินซีได้นะคะ!
วิตามินซี (Vitamin C) หรือ กรดแอล-แอสคอร์บิก (L-ascorbic acid) เป็นวิตามินละลายน้ำ โดยปกติร่างกายควรได้รับวิตามินซีอย่างน้อยวันละ 50 – 100 มิลลิกรัม
จากข้อมูลของผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคขาดวิตามินซี พบว่า… มีสถิติเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยเด็กส่วนมากมักมีประวัติการกินนมวัวและกินนมถั่วเหลืองชนิดกล่อง UHT เป็นประจำ โดยไม่ทานอาหารอื่นร่วมด้วย
กรณีเด็กที่เลือกกิน กินอาหารยาก กินข้าวน้อย ไม่กินผักผลไม้ที่มีวิตามินซี และกินนมกล่อง UHT เป็นประจำก็อาจทำให้เกิดภาวะเด็กขาดวิตามินซี ซึ่งจะส่งผลพัฒนาการของเด็กและทำให้เด็กดูซีด บวมฉุ เลือดออกง่าย อาจเป็นจ้ำๆ ตามแขนขา รอบตา หรือมีเลือดออกตามไรฟัน ไม่ค่อยมีแรง อาจหงุดหงิดง่าย ร้องกวน ผิวหนังแห้ง ผมบาง ปวดขา เข่า ไม่ค่อยขยับ เวลานั่งจะงอข้อสะโพก ข้อเข่า เป็นต้น
ในนมกล่องมีปริมาณวิตามินซีน้อยมากคือประมาณ 1.5 มิลลิกรัม/100 ซีซี ในขณะที่นมแม่มีวิตามินซีสูงถึง 4 มิลลิกรัม/100 ซีซี หากแม่กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ เบบี๋ก็จะมีโอกาสขาดวิตามินซีได้เช่นกัน
ดังนั้น คุณแม่ที่ให้นมลูกน้อยควรทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง ส้ม มะนาว สับปะรด มะละกอ มะเขือเทศ กีวี่ คะน้า กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย กวางตุ้ง ข้าวโพดอ่อน เพื่อให้ลูกได้รับปริมาณวิตามินซีที่เหมาะสม
ในระยะ 6 เดือนแรก ทารกน้อยควรได้รับนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ต้องกินน้ำ หรืออาหารอื่น หลังอายุ 6 เดือน ต้องเริ่มฝึกให้เจ้าตัวเล็กหม่ำอาหารอื่นให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับนมแม่
หากเด็กเป็นโรคขาดวิตามินซีควรได้รับวิตามินซี วันละ 300 มิลลิกรัม ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในเวลา 1 – 2 อาทิตย์ และกินวิตามินเสริมอีก 2 – 3 เดือน โรคขาดวิตามินซีเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้เพียงพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูให้ความสำคัญกับอาหารของเด็ก ปรับพฤติกรรมการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักสด ผลไม้สด เป็นประจำก็จะทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลจากโรคขาดวิตามินซี