“โรคออทิสติก” เป็นโรคทางจิตเวชที่มีความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม การพูดหรือด้านภาษา และพฤติกรรม แม้ความบกพร่องจะมีต่อเนื่องตลอดชีวิต แต่การวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้มากกว่าการรักษาเมื่ออายุมากขึ้น
ข้อมูลจาก น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า…
ในภาพรวมทั้งประเทศไทยพบอัตราป่วยโรคออทิสติกได้ 6 คนในประชากรทุกๆ 1,000 คน คาดว่าทั่วประเทศจะมีเด็กป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 300,000 คน ในจำนวนนี้ยังเข้าถึงบริการน้อยมาก ประมาณร้อยละ 10 หรือปีละเพียง 30,000 กว่าคนเท่านั้น
สาเหตุที่เด็กป่วยโรคออทิสติกเข้าถึงบริการยังไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคนี้อาจไม่มีลักษณะผิดปกติให้เห็นเมื่อแรกเกิด และเจริญเติบโตเหมือนเด็กทั่วไป เพียงแต่มีปัญหาทางพัฒนาการที่มีความล่าช้าไม่เป็นไปตามวัยเหมือนเด็กปกติทั่วไป ซึ่งจะเริ่มเห็นความผิดปกติตั้งแต่อายุ 1-2 ขวบ ลักษณะที่สำคัญคือไม่สบตา ไม่พาที และไม่ชี้นิ้ว
พ่อแม่ส่วนมากมักจะให้ความสนใจที่การเจริญเติบโตทางร่างกายเป็นหลัก ไม่ได้เอะใจเรื่องพัฒนาการของเด็ก และเข้าใจผิดว่าพัฒนาการเด็กจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากเด็กคนไหนพูดช้าจะเชื่อและเรียกว่าเด็กปากหนักเอง และไม่พาไปหาแพทย์ มักแก้เคล็ดโดยใช้เขียดมาตบปาก เพื่อให้เด็กพูดเร็วขึ้น ซึ่งไม่เกิดผลดีอะไรกับเด็ก และทำให้เด็กขาดโอกาสได้รับความช่วยเหลือ มีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งจะส่งผลถึงไอคิวและการเรียนของเด็กเมื่อโตขึ้น ซึ่งเด็กออทิสติกบางคนมีไอคิวสูงมาก
ทั้งนี้ ผลการศึกษาทั่วโลกพบว่า จำนวนเด็กออทิสติกทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เป็น 6 ใน 1,000 คน และจากการศึกษาวิจัยของศูนย์ควบคุมป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Center of Disease Control and Prevention) สหรัฐอเมริกา พบว่าในเด็ก 88 คนจะมีเด็กออทิสติก 1 คน เด็กชายจะมีแนวโน้มเป็นออทิสติกมากกว่าเด็กหญิง 5 เท่าตัว
ฉะนั้น พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตและใส่ใจเบบี๋ให้มากๆ นะคะ หากพบความผิดปกติของเจ้าตัวเล็กอย่าปล่อยผ่าน ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีผลดีต่อเด็กค่ะ