ทำเอาเหล่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ตกอกตกใจกันไปตามๆ กัน กับภาพเด็กน้อยที่มีผิวลอกทั้งส่วนของใบหน้าและลำตัว เรียกว่าเป็นคนละสีอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้โพสต์ภาพดังกล่าวเป็นคุณหมอ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ซึ่งได้แชร์เรื่องราวขณะลงตรวจ ระบุว่าเป็นภาพของคนไข้เด็กน้อยที่ถูกเลี้ยงด้วย “นมข้นหวาน”
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “นพ.อรรณพ บุญหวังช่วย” ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…
วันนี้ตรวจคนไข้ที่คลินิกผิวหนัง รพ.สุไหงโก-ลก คนไข้เยอะจริงๆ เกือบ 50 ราย ได้กินข้าวเช้ากับข้าวเที่ยงก็บ่าย 2 แล้ว เหนื่อยแต่ก็สุขใจที่ได้ช่วยคนไข้ ตรวจๆ ไปก็เจออีกรายสำหรับคนไข้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวาน เลยต้องขออนุญาตคนไข้เอาภาพมาแบ่งปันเพื่อย้ำเตือนกันอีกครั้งและอยากจะฝากทุกๆ คนได้เตือน กับคนที่คุณรัก คุณรู้จัก หรือเป็นญาติก็ตาม ว่า #ห้ามเลี้ยงลูกกับนมข้นหวานโดยเด็ดขาด อยากมาแชร์เพื่อให้ความรู้กับทุกๆ คน ว่า นมข้นหวานไม่เหมาะกับการเลี้ยงลูก
เด็กที่เห็นในภาพวินิจฉัยว่าเป็น Kawashiokor หรือ Protein Energy Malnutrition เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีการขาดโปรตีน สารอาหารและพลังงาน เพราะการให้ลูกกินนมข้นหวานนั้นจะมีส่วนประกอบหลักแค่ไขมัน น้ำตาล โซเดียม ซึ่งต่างจากนมแม่และนมวัวที่เป็นนมผงสำหรับเลี้ยงเด็ก ทำให้เด็กเกิดผื่นดังภาพ เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย เกิดอาการบวมทั้งตัวจากโปรตีนในเลือดต่ำมากจนทำให้น้ำในหลอดเลือดไหลออกนอกหลอดเลือด ผมเปราะบางร่วงง่าย ผิวหนังลอกหลุดง่าย ตับโต ซึม พัฒนาการช้า
ทั้งนี้ โรคขาดโปรตีน พลังงาน แคลอรี่ เป็นโรคขาดสารอาหารชนิดหนึ่ง เพราะร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ มี 2 แบบคือ
- ควาชิออร์กอร์ (Kwashiorkor) เป็นโรคขาดโปรตีนและพลังงานอย่างมาก เด็กจะมีอาการบวม เส้นผมเปราะ หลุดง่าย ผิวหนังลอกหลุดง่าย ตับโต ซึม และเศร้า ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
- มาราสมัส (Merasmus) เป็นโรคขาดโปรตีนอีกแบบหนึ่ง เด็กจะแขนขาลีบ เนื่องจากไขมันและกล้ามเนื้อถูกเผาผลาญมาเป็นพลังงานเพื่อความอยู่รอด ผิวหนังเหี่ยวย่น พบในเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ ที่หย่านมแม่ไว และเลี้ยงด้วยโภชนาการที่ไม่เหมาะสม
โรคขาดโปรตีนทั้ง 2 แบบนี้ เกิดจากการรับอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น นมข้นหวานที่ผสมเจือจาง ฉะนั้น ไม่อยากให้ลูกเสี่ยงต้องเลี่ยงการเลี้ยงเบบี๋นมข้นหวานนะคะ