“มะเร็งจอตาในเด็ก” นับเป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับต้นๆ ในผู้ป่วยวัยเด็ก ล่าสุดเพิ่งมีประเด็นที่ทำให้ต้องให้ความสำคัญกับโรคนี้อีกครั้ง หลังจากที่มีคลิปความน่ารักของเด็กน้อยคนหนึ่ง ซึ่งมีผู้ชมบางรายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดปกติของตาเด็ก เพราะสงสัยว่าอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งจอตาในเด็ก
ศ.พญ.ละอองศรี อัชชะนียะสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งจอตาในเด็ก ซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้
โรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma)
พบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยสัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 18,000 – 20,000 อาจจะเป็นในตาข้างเดียวหรือพร้อมกัน 2 ตา โดยที่ไม่ได้เป็นการกระจายจากตาข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง และอาจพบที่ต่อมไพเนียล ซึ่งเป็นต่อมอยู่ภายในใจกลางสมองร่วมด้วย สามารถแบ่งชนิดตามการเกิดได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังลูกหลาน และ 2. ชนิดที่ไม่ถ่ายทอดไปยังลูกหลาน
6 อาการแสดงที่บ่งชี้โรคมะเร็งจอตาในเด็ก
- การตรวจพบรูม่านตาเป็นสีขาว ซึ่งเกิดจากแสงที่สะท้อนจากก้อนมะเร็งจอตา เป็นอาการนำที่พบบ่อยที่สุด โดยพบถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยจะมีลักษณะตาวาว สีขาวๆ กลางตาดำ
- ภาวะตาเหล่พบได้เป็นอันดับรองลงมา ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์
- ตาอักเสบตาแดง ม่านตา 2 ข้างสีไม่เหมือนกัน เกิดจากการที่มีหลอดเลือดฝอยมากผิดปกติที่ม่านตา หรือมีเลือดออกในช่องหน้าม่านตา หรือต้อหิน เป็นต้น
- ปวดตาและมีการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ ลูกตา
- อาการอื่นๆ ในรายที่มีการกระจายของมะเร็งไปนอกลูกตา เช่น ตาโปน เนื่องจากก้อนมะเร็งลามออกมาในเบ้าตา ผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่สมองอาจมีอาการ ชัก หรือแขน ขาอ่อนแรง หากมีการกระจายไปที่กระดูก อาจคลำก้อนได้ที่ศีรษะหรือลำตัว ถ้ามีการกระจายไปที่ตับอาจคลำก้อนได้ในช่องท้อง
- ลูกตาฝ่อ แม้ว่าพบได้น้อยเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งโตเร็วทำให้ขาดเลือดมาเลี้ยงที่ก้อนและเมื่อเซลล์มะเร็งตายจะปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบเป็นผลให้ลูกตาฝ่อ
ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ควรหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ของเบบี๋ ยิ่งโรคนี้สามารถสังเกตอาการได้ไม่ยาก อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาดเพราะโรคนี้สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตในระยะเวลาเพียง 1-2 ปี เท่านั้นค่ะ