รู้จักเพื่อพร้อมรับมือ “โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน” ในทารก

0

โรคหัวใจแต่กำเนิด เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจในช่วงขั้นตอนการสร้างอวัยวะขณะตั้งครรภ์ของมารดา ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 1 ของทารกแรกเกิด โรคกลุ่มนี้มีความรุนแรงแตกต่างกันไป หนึ่งในโรคในกลุ่มโรคหัวใจแต่กำเนิดที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ คือ โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน PDA

โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus : PDA) คือ ภาวะการทำงานที่ผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเป็นผลมาจากหลอดเลือดหัวใจดักตัสอาร์เตอริโอซัส (Ductus Arteriosus) ปิดไม่สนิทหลังจากทารกเกิด ทำให้มักมีเลือดถูกส่งไปที่ปอดมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งแรง และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โรคนี้มักพบบ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด (ยิ่งเกิดก่อนกำหนดมากโอกาสที่หลอดเลือดยังคงเปิดอยู่หลังเกิดก็จะพบได้มากขึ้น) ระดับความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดที่เปิดอยู่ ในกรณีผู้ป่วยมีหลอดเลือดเปิดอยู่ไม่กว้างมาก ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและอาจไม่จำเป็นจะต้องรับการรักษา เพราะรูดังกล่าวอาจหดเล็กลงและปิดเองภายใน 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิด PDA ได้อย่างชัดเจน แต่คาดว่าปัจจัยทางพันธุกรรมอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของโรค และมักพบผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้

– ทารกที่คลอดก่อนกำหนด

– มารดาติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก หรือมารดาที่มีอายุมากกว่า 35-40 ปี

– มารดาป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 

– มารดาสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอลล์ขณะตั้งตั้งครรภ์

– มีสมาชิกครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

– ทารกที่มีโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม

– มีโอกาสเกิดในทารกเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อาการของ PDA จะแตกต่างกันตามขนาดรูของหลอดเลือดที่เปิดอยู่ ในกรณีที่รูหลอดเลือดของทารกที่เปิดอยู่มีขนาดเล็กอาจไม่แสดงสัญญาณหรืออาการ และอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่หากทารกมีรูหลอดเลือดเปิดอยู่เป็นรูขนาดใหญ่มักจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและปอด อย่างไรก็ตาม อาการที่กำลังบอกว่าลูกเรามีภาวะนี้ ได้แก่

– ทารกมีอาการหอบเหนื่อย หัวใจและปอดทำงานหนัก หัวใจเต้นอย่างหนักและเร็ว ชีพจรเต้นแรงกว่าปกติ หัวใจโตขึ้น โดยทารกเกิดก่อนกำหนดจะแสดงอาการชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกหลังเกิด

– ทารกหายใจแรงและเร็ว หรือหายใจสั้น หรือหายใจลำบากเรื้อรัง

– ทารกรับประทานอาหารได้น้อย และมักจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

– ทารกมีเหงื่อออกขณะร้องไห้หรือรับประทานอาหาร

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเกิน ทำได้โดยการให้ยาเพิ่มการทำงานของหัวใจ เพื่อเพิ่มการหดตัวของหลอดเลือดเกิน โดยให้หดเล็กลงและอาจจะปิดเองได้ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเพื่อปิดรูหลอดเลือด หรือการสวนหัวใจ (Catheter Procedures) ทั้งนี้ หากผู้ป่วย PDA ไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะความดันในปอดสูง และสุขภาพหัวใจอาจอ่อนแอลง รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ คือ การติดเชื้อที่หัวใจ (ภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบ) และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โรคหลอดเลือดหัวใจเกินยังไม่มีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ แต่สามารถลดความเสี่ยงโดยดูแลตัวเองในขณะตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับคำปรึกษาและวางแผนการตั้งครรภ์กับแพทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *