“ภาวะตัวเหลือง” ในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก (Neonatal Hyperbilirubinemia) เป็นปัญหาที่พบบ่อย เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกหลังทารกเกิด โดยอาการตัวเหลืองเกิดจากการมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) จำนวนมากกว่าปกติคั่งอยู่ในอวัยวะต่างๆ ทำให้เห็นว่ามีผิวหนังทั่วตัวและตาขาวเป็นสีเหลือง
เพราะเป็นปัญหาที่พบบ่อยในทารก คุณแม่จึงควรทำความเข้าใจเพื่อเตรียมตัวรับมือกับภาวะตัวเหลืองค่ะ ทั้งนี้ ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด แบ่งเป็น
- ภาวะตัวเหลืองปกติ ทารกจะไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย หายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
- ภาวะตัวเหลืองผิดปกติเนื่องจากมีพยาธิสภาพ มีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน, ภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD, ทารกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ เป็นต้น
หากระดับบิลิรูบินในเลือดสูงมาก จะผ่านเข้าไปจับกับเนื้อสมองด้านใน ทำให้ทารกมีอาการผิดปกติทางสมอง ในระยะแรกทารกจะซึม ดูดนมน้อยลง ตัวอ่อนปวกเปียกหรือเกร็งหลังแอ่น ชัก มีไข้ ในระยะยาวทารกจะมีการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ มีปัญหาในการได้ยินและการเคลื่อนไหวของลูกตา ส่งผลให้พัฒนาการล่าช้ากว่าปกติและอาจมีระดับสติปัญญาลดลงด้วย อาจหูหนวก ปัญญาอ่อน ซึ่งความผิดปกติทางสมองเหล่านี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
การป้องกันภาวะตัวเหลืองในเด็ก สามารถทำได้โดย…
- ป้องกันภาวะติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ โดยการรีบฝากครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสแรก เพื่อตรวจหาความผิดปกติแต่เนิ่นๆ เนื่องจากโรคบางอย่างสามารถหายขาดได้หากรีบทำการรักษา
- เมื่อใกล้คลอดหรือในระหว่างให้ลูกกินนมแม่ แม่ต้องระวังการใช้ยาบางอย่าง เช่น ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ อาจทำให้เกิดตัวเหลืองในเด็กแรกคลอด ไม่ควรซื้อยากินเองเพราะยาอาจขับผ่านทางน้ำนมมายังทารก
- ในเด็กแรกเกิดแม่ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่เร็วที่สุด ให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ลำไส้ของลูกเคลื่อนตัวทำงานได้ดี ช่วยขับสารบิลิรูบินออกไปได้ดี ถ้าไม่มั่นใจในวิธีให้นมลูก เพราะเป็นท้องแรก หรือกลัวพลาด ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ