แม่จ๋าอย่าวางหนู….. ปล่อยลูกติดมือไม่ดีจริงอ่ะ???

0

แม่ๆ หลายคนมักจะเคยได้ยินได้ฟังหรือได้รับการถ่ายทอดจากผู้ใหญ่ว่าอย่าอุ้มลูกมากเดี๋ยวติดมือ  แม่จะพาลไม่ได้หลับไม่ได้นอน  ไปทำอะไรก็ไม่ได้  ลูกจะอ้อนให้อุ้มตลอดเวลา..

แม่จ๋าอย่าวางหนู..... ปล่อยลูกติดมือไม่ดีจริงอ่ะ

จริงๆ แล้วในช่วงวัยทารกจนถึงวัยเดินเตาะแตะเป็นวัยที่ต้องการการสัมผัสจากคุณพ่อและคุณแม่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการอุ้ม กอด ยิ้ม พูดคุย หยอกล้อ  เพราะลูกน้อยจะรู้สึกว่า ตัวเค้ามีความสำคัญกับคุณพ่อและคุณแม่ และสำหรับลูกน้อยนั้นการอุ้ม การสัมผัสลูก มีความสำคัญกับจิตใจเป็นอย่างมาก โดยมีผลงานการวิจัยออกมาอย่างแพร่หลายถึงเด็ก 2 กลุ่ม ที่ได้รับการเลี้ยงดูและเอาใจใส่ต่างกัน กลุ่มหนึ่งได้รับการอุ้มชู กอดรัดฟัดเหวี่ยง กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่ให้นอนเล่นเองและเติบโตมาในเพลย์เพนหรือพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้าน    เด็กทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันทางอารมณ์เป็นอย่างมาก หนูๆ ที่คุณพ่อและคุณแม่เฝ้ากอดหอมอุ้มชูรักใคร่ จะเป็นหนูน้อยที่มีความมั่นคงทางจิตใจสูง ไม่ร้องโยเยและมีสมาธิดีมาก แต่สำหรับหนูน้อยที่คุณพ่อและคุณแม่ไม่ค่อยได้เล่นด้วยหรือกอดอุ้มลูกเท่าไหร่ กลับมีภาวะแปลกแยก ไม่เข้าสังคม และหงุดหงิดง่าย ร้องไห้โยเยอยู่นานเหมือนต้องการให้คนอื่นสนใจตลอดเวลา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจจะมีเด็กบางกลุ่มที่ไม่ยอมให้วางบนที่นอนเลยจนคุณแม่เองก็ไม่เป็นอันได้พักผ่อน  วางก็ร้องวางก็ร้องทำให้ส่งผลต่อทั้งสุขภาพจิตใจและร่างกาย  เราก็ต้องพิจารณาถึงสาเหตุและแก้ปัญหาในตรงจุดค่ะ

  • ในกรณีของเด็กแรกเกิดหากไม่ยอมให้วาง  อาจเกิดจากความเคยชินกับสภาพแวดล้อมในครรภ์ของคุณแม่ที่ยังเป็นที่แคบๆ  อบอุ่น  เงียบสงบ  ปลอดภัย  คุณแม่ก็ควรจำลองบรรยากาศให้ลูกน้อยรู้สึกแบบเดียวกันค่ะ
  • ใช้ผ้าห่อตัว ถ้านอนห้องแอร์ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องร้อนอึดอัด  ยิ่งผ้าแนบกระชับยิ่งก็ทำให้อบอุ่นปลอดภัย
  • ใช้หมอนหนุนตัว จับวางนอนตะแคงนิดม้วนผ้าวางหนุนบริเวณหน้าอกและหลังไม่ให้ตัวพลิก
  • ใช้ผ้าปิดหน้าอก หากลูกนอนหงาย คุณแม่อาจใช้ผ้าห่มที่พอมีน้ำหนักวางปิดบริเวณหน้าอกป้องกันไม่ให้ผวาตกใจง่าย
  • วางอย่างเบามือ วางแล้วอย่าเพิ่งปล่อยมือทันที ใช้มือวางบนหน้าอกสักพัก  หรือตบก้นเบาๆ รอให้ลูกนิ่งสนิทจึงวางมือ

การอุ้มลูกน้อย  พูดคุย  เล่นกับลูกบ่อยๆ  จะทำให้ลูกรู้สึกถึงความรักความอบอุ่นที่คุณพ่อและคุณแม่มีให้แต่หากลูกติดมือจนไม่ยอมให้วางก็ไม่เป็นผลดีกับทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกด้วยเช่นกัน  ดังนั้นคุณควรบริหารจัดการให้เหมาะสมตามสถานการณ์นะคะ  จะได้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจดีทั้งคุณแม่คุณลูกค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *