โรคหัด เป็นโรคที่พบได้ทุกวัยและพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 0 – 6 ปี โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนสามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ง่ายมาก ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง ที่น่ากังวลคือสถานการณ์ผู้ป่วยโรคหัดในประเทศไทยช่วงนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในโลกนี้มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคหัด เนื่องจากความครอบคลุมของวัคซีนหัดต่ำลงในหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 สำหรับประเทศไทย เคยมีการระบาดใหญ่ของโรคหัดในปี 2561 – 2562 ที่มีผู้ป่วยหัดยืนยันกว่า 3,000 รายต่อปี ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด มีจำนวนผู้ป่วยหัดลดลงอย่างมาก อาจเป็นผลพวงจากมาตรการในการป้องกันโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจเช่นเดียวกันกับโรคหัด
จากการติดตามสถานการณ์โรคหัด กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยโรคหัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด ทั้งหมด 143 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 37 ราย และมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา 10 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.07 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปีสูงที่สุด 1.16 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด หรือไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีน
โรคหัด เกิดจากไวรัสหัด (Measles virus) พบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด แพร่กระจายได้ง่าย เมื่อผู้ป่วยหายใจหรือไอ จาม ละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ 4 วันก่อนผื่นขึ้นไปจนถึงหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน ผู้ป่วยโรคหัด จะเริ่มมีอาการไข้ หลังได้รับเชื้อประมาณ 10 – 12 วัน
ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 3-4 วัน มีน้ำมูกไหล มักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา เจ็บคอ ตาแดงก่ำและแฉะ หลังจากนั้นประมาณ 3 – 5 วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า เหนือไรผม แล้วกระจายไปลำตัว แขน ขา โดยผื่นมีลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ บางรายอาจมีตุ่มแดงที่มีสีขาวตรงกลาง ขึ้นในกระพุ้งแก้ม ควรรีบไปพบแพทย์ หากมีภาวะรุนแรงและแทรกซ้อน เพื่อได้รับการรักษาทันท่วงที ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและรุนแรงคือปอดอักเสบและสมองอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
การป้องกันโรคหัด ทำได้ดังนี้
1. รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ปิดปาก ปิดจมูก ขณะไอหรือจาม (พ่อแม่ต้องคอยดูแลและสอนลูก)
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีไข้ออกผื่น
3. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด สำหรับเด็กเล็กควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งก็คือ วัคซีน MMR (Measles-Mumps-Rubella Vaccine) จำนวน 2 เข็ม โดย ฉีดเข็มแรก เมื่ออายุ 9 – 12 เดือน และ เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือน วัคซีนดังกล่าว สามารถป้องกันทั้งโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
สำหรับเด็กที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัด ควรพามาฉีดวัคซีนโดยด่วน และหากเด็กมีไข้ ไอ ตาแดง และมีผื่นแดงบริเวณใบหน้าและร่างกาย ให้แยกเด็กออกไม่ให้สัมผัสกับเด็กอื่น เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ เว้นระยะห่างและล้างมือบ่อย ๆ