“โรคตาขี้เกียจ” ปล่อยไว้ไม่รักษา อาจถึงขั้นตาบอด

0

เป็นธรรมดาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ย่อมต้องรักและเป็นห่วงลูก โดยเฉพาะเมื่อลูกอยู่ในวัยทารกที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ หากมีอาการเจ็บป่วยย่อมไม่สามารถสื่อสารอาการให้ใคร ๆ เข้าใจได้ จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของเบบี๋เพื่อหาทางรักษาก่อนจะสายเกินแก้

107

 

“โรคตาขี้เกียจ” (Lazy eye หรือ Amblyopia) คือ ภาวะที่การมองเห็นบกพร่องในเด็ก ทำให้มองเห็นไม่ชัด เบลอ พร่ามัว มีตั้งแต่ขั้นเล็กน้อยจนถึงรุนแรง เกิดจากตาทั้ง 2 ข้างเห็นชัดไม่เท่ากัน ร่างกายจึงเลือกใช้ตาข้างที่เห็นชัดมากกว่า ทำให้การพัฒนาประสาทส่วนการมองเห็นจึงเกิดการกระตุ้นในตาข้างเดียวทำให้มองเห็นชัดตาเดียว หรือเกิดจากตามองเห็นไม่ชัดทั้ง 2 ข้าง ทำให้สมองพัฒนาประสาทการรับรู้ส่วนอื่นแทน จึงตามัวทั้ง 2 ข้าง

 

โดยโรคตาขี้เกียจ ส่วนมากพบในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 7-8 ปี หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง หรือสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร เนื่องจากในคนปกติ การพัฒนาประสาทส่วนการมองเห็นจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 3 เดือน และพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนอายุ 9 ปี ดังนั้น หากไม่รักษาในช่วงเวลานี้ มักรักษาไม่ได้อีก อาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

 

จุดสังเกตอาการตาขี้เกียจในเบบี๋ ได้แก่ ลูกตาดำสั้น มีจุดขาวขาวที่กระจกตาหรือในตา หนังตาปิด หนังตาตก ตาเข ชอบหยีตามอง เอียงหน้า เอียงคอ ชอบมองใกล้ หรือเด็กร้องไห้เมื่อถูกปิดตา 1 ข้าง และพยายามดึงมือที่ปิดตาออก แต่หากลักษณะภายนอกไม่มีความผิดปกติ ลองทดสอบด้วยการปิดตาทีละข้างแล้วเอาของเล่นมาหลอกล่อ  หากตาข้างใดข้างหนึ่งของลูกไม่มีปฏิกิริยาต่อของเล่น แสดงว่าตาข้างนั้นของลูกอาจมองเห็นไม่ชัดเจน อาจมีภาวะตาขี้เกียจได้

 

นอกจากนี้อาจสังเกตลักษณะของดวงตาและการมองเห็นของเบบี๋ว่าเป็นไปตามพัฒนาการของช่วงวัยในขณะนั้นหรือไม่ ได้แก่

-ดวงตาของเบบี๋ตั้งแต่แรกเกิด มีขนาดปกติหรือไม่ หรือมีอะไรมาปิดตาดำของเด็กหรือเปล่า หากผิดปกติควรปรึกษาจักษุแพทย์

-เมื่อเบบี๋อายุ 2-3 เดือน เด็กจ้องมองคุณแม่เวลาให้นมได้หรือไม่ หากไม่ควรปรึกษาจักษุแพทย์

-เมื่อเบบี๋อายุ 6 เดือน ควรจ้องมองตามวัตถุได้ ในขณะที่ตาอยู่นิ่ง หากไม่นิ่งควรปรึกษาจักษุแพทย์

– สายตาเด็กจะใกล้เคียงกับผู้ใหญ่มากเมื่อมีอายุประมาณ 3 ปี ดังนั้นควรให้ทดสอบสายตาเด็กด้วยการให้มองภาพขนาดต่าง ๆ เพื่อวัดระดับการมองเห็น และพาเด็กไปพบจักษุแพทย์เสมอ

 

เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและนำไปสู่การรักษาอย่างถูกวิธี เด็กทุกคน (โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด, เด็กที่มีคนในครอบครัวสายตามีปัญหา) ควรได้รับการตรวจสายตาหนึ่งครั้งก่อนอายุสี่ขวบ เพื่อเป็นการตรวจคัดกรองตาขี้เกียจ

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *