เมื่อเบบี๋ชักจากไข้สูง รับมืออย่างไรไม่ให้พลาด!

0

อาการชักจากไข้สูง เป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ ซึ่งสามารถพบได้ตลอดทั้งปี เพราะเด็กเล็กมีโอกาสที่จะมีไข้สูงได้จากสาเหตุต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-2 ปีแรก จะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดไข้ชักได้ ซึ่งพบมากในช่วง 1-2 วันแรกของการมีไข้ คำถามคือ เมื่อเบบี๋ชักจากไข้สูง รับมืออย่างไรไม่ให้พลาด

เด็กเล็กที่มีอายุ ตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึง 5-6 ปี โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-2 ปีแรก มีโอกาสที่จะมีไข้สูง (ตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป) ได้จากสาเหตุต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้ออกผื่น หรือท้องเสีย สำหรับอาการของผู้ป่วยชักจากไข้สูง ได้แก่ มีอาการเกร็ง กระตุก ทั้งตัวหรือบางส่วน, ตาลอย หรือกระตุกตามไปกับอาการชัก, น้ำลายฟูมปาก, ปลายมือปลายเท้าเขียว, เรียกไม่รู้สึกตัว, ปัสสาวะ อุจจาระราด

ข้อควรปฏิบัติสำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง เมื่อลูกน้อยมีอาการชักเนื่องจากไข้สูง

1. คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองต้องพยายามตั้งสติ ทำจิตใจให้สงบ

2. กรณีเด็กตัวเล็กและสามารถจัดท่าขณะที่มีอาการชักได้ ให้จัดท่านอนตะแคงหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งและหลีกเลี่ยงการหนุนหมอน การจัดท่าทางแบบนี้จะช่วยป้องกันการสำลักได้

3. ห้ามใช้อุปกรณ์หรือวัสดุต่างๆ รวมถึงนิ้วมือของผู้ปกครอง ใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วย

4. งดเว้นการป้อนยาหรือน้ำทางปากในขณะที่มีอาการชัก

5. หลีกเลี่ยงการพยายามงัดง้างถ่างกดแขนขาของผู้ป่วยขณะมีอาการชัก

6. นำลูกน้อยส่งโรงพยาบาลหรือโทร 1669 ระหว่างนั้นผู้ปกครองควรจับเวลาช่วงที่มีอาการชักเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ สังเกตว่าเบบี๋มีปากและสีผิวสีเขียวคล้ำร่วมด้วยหรือไม่ ร่วมกับพยายามเช็ดตัวเด็กน้อยตลอดทางระหว่างนำส่งโรงพยาบาล โดยใช้น้ำอุณหภูมิห้องและหลีกเลี่ยงการใช้น้ำเย็น จนกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลหรือได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักจากไข้สูงนั้น การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การพยายามลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วย การเช็ดตัวลดไข้จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษาเบื้องต้น โดยควรถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้หมด ใช้ผ้าขนนุ่มชุบน้ำให้ชุ่มเช็ดชโลมให้ทั่วทั้งตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ครอบคลุมถึงซอกแขน ซอกขาและข้อพับต่างๆ เช็ดซ้ำหลายๆ ครั้ง จนกว่าไข้จะลดลง หากผู้ป่วยรู้สึกตัวเป็นปกติแล้ว ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอลได้ และพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับน้ำเพียงพอ และเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถจัดการกับภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้

อาการไข้ชักในผู้ป่วยบางรายอาจจะได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ได้ ดังนั้นในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เคยมีประวัติไข้ชัก ก็จะทำให้ลูกน้อยมีโอกาสชักเวลามีไข้สูงเพิ่มมากขึ้นได้ โดยอาการชักเนื่องจากไข้นี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต การเรียนรู้ หรือพัฒนาการของผู้ป่วย ยกเว้นในรายที่มีความผิดปกติจากโรคทางระบบประสาทอื่นๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้เพื่อตรวจยืนยันสาเหตุของอาการชัก และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการดูแลรักษา ตลอดจนเพื่อป้องกันการชักซ้ำในโอกาสต่อไป

ชักจากไข้สูง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับภาวะนี้ เพื่อสามารถรับมือเมื่อลูกน้อยเกิดภาวะนี้ได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดความผิดพลาดใดๆ ที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของเบบี๋

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *