เมื่อกล่าวถึงโรคอันตรายในเด็กเล็ก “โรคคาวาซากิ” (Kawasaki disease) เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จัก เพราะมีภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่หัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง อุดตัน ทำให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ซึ่งอันตรายถึงขั้นที่ทำให้เบบี๋เสียชีวิตเลยทีเดียว!
ข้อมูลจาก นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า
โรคนี้เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดง ทั่วร่างกาย มักพบในเด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี พบบ่อยในช่วงอายุ 1-2 ปี ข้อมูลของเราคล้ายกับในต่างประเทศที่กว่าร้อยละ 95 จะมีอายุตํ่ากว่า 5 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง
ในเด็กที่อายุน้อยๆ และเพศชาย จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าเด็กโตหรือผู้หญิงภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงตั้งแต่วันแรกๆ ของโรค มีช็อกเสียชีวิตได้ แต่พบน้อย ภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ต้องตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) ว่ามีหลอดเลือดหัวใจผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าผิดปกติจะมีโอกาสเกิดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจเสียชีวิตเฉียบพลันได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ
ด้าน นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า
โรคคาวาซากิ ถ้านับทั่วประเทศก็จะประมาณ 300 ราย/ปี เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิด เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองรุนแรงผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีไข้สูงหลายวัน ตาแดง ปากแดง เป็นลักษณะเด่นที่แยกโรคนี้จากไข้หวัดธรรมดาได้
สิ่งที่สำคัญสำหรับโรคนี้คือ อาจพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง เป็นภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายตั้งแต่อายุน้อยได้ ถ้าพบแพทย์เร็ว ให้การรักษาด้วยยาในระยะแรกๆ ของโรคจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ และหลอดเลือดเหล่านี้ได้ โดยถ้าไม่ใช้ยาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนเกินร้อยละ 30 แต่เมื่อให้ยาแล้วจะเหลือตํ่ากว่าร้อยละ 5 ทั้งยังทำให้อาการไข้หายอย่างรวดเร็วด้วย
เด็กที่เป็นโรคนี้ต้องได้รับการติดตามโดยกุมารแพทย์ด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นใน 2-3 เดือน ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติค่ะ