เตรียมพร้อมป้องกันเบบี๋จาก “ไข้หวัดใหญ่” ภัยที่มากับลมหนาว

0

ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูหนาว อากาศที่เย็นนั้นเอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี ทำให้โรคติดต่อทางเดินหายใจมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งบางโรคหากเจ็บป่วยอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นที่เสียชีวิตได้ หนึ่งในโรคยอดฮิตที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะเบบี๋ คือ โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) สามารถเกิดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ติดต่อกันได้ง่ายจากการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ โดยไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

ไข้หวัดใหญ่ในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ ซัปไทด์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 lineages คือ Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีอาการแตกต่างกันตามอายุ โดยในกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นจะมีอาการของไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในบริเวณหลัง ต้นแขน ต้นขา มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอแห้ง เจ็บคอ และเบื่ออาหาร ส่วนในเด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการทางระบบอื่น เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง

เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี จัดเป็นเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะหากป่วย อาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง จนทำให้เสียชีวิตได้ ในส่วนของเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือ เด็กที่เป็นโรคหอบหืดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคเมตาบอลิค โรคไต และโรคธาลัสซีเมีย โรคทางระบบประสาทที่มีปัญหาด้านการท้างานของปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเด็กที่ได้รับยาแอสไพรินเป็นระยะเวลายาวนาน

เคล็ดลับป้องกันเบบี๋จากโรคไข้หวัดใหญ่

1. ดูแลล้างมือให้เบบี๋บ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ของเล่น

2. หมั่นทำความสะอาดบ้านและข้าวของภายในบ้าน รวมถึงของเล่นเบบี๋ให้สะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากโรคนี้สามารถแพร่เชื้อได้โดยละอองฝอยจากการไอ หรือจามรดกัน หรือผ่านสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วเข้าตา จมูก หรือปาก จนติดเชื้อได้

3. หลีกเลี่ยงการปล่อยให้เบบี๋คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากมีผู้ป่วยในบ้านต้องแยกตัวให้ห่างไกลจากเบบี๋ รวมถึงหลีกเลี่ยงการพาเบบี๋ไปอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น

4. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ ในการผลิตวัคซีนแต่ละปีจึงมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตามเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ครั้งแรกในเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปี ต้องฉีด 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 ฉีดห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 1 เดือน ครั้งต่อไป ปีละครั้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *