เด็กแรกเกิด-ทารก กับ “โรคอีสุกอีใส”

0

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคไข้ออกผื่น ผู้ป่วยจะมีอาการไข้และผื่นตุ่มน้ำใสที่ผิวหนังทั่วร่างกาย บางรายอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจและระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือพบภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หนึ่งในกลุ่มเสี่ยงโรคนี้ คือ เด็กแรกเกิดและทารกที่มารดาไม่เคยเป็นอีสุกอีใส หรือได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว และมีผื่นตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง ไข้จะสูงหรือน้อยและตุ่มจะมีจำนวนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอายุ เด็กจะมีเพียงไข้ต่ำ ๆ และมีตุ่มจำนวนน้อย ในขณะที่เด็กโตและผู้ใหญ่ มักมีไข้สูงและตุ่มจำนวนมาก

เด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อโรคอีสุกอีใสช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ระยะแรก เด็กที่คลอดมักจะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์และความพิการที่แขนและขา ทั้งยังเกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคอีสุกอีใสที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น หากมารดามีการติดเชื้ออีสุกอีใสในช่วงสัปดาห์ก่อนการคลอดบุตรหรือสัปดาห์หลังจากการคลอดบุตร ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวมารดาและทารกหากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ และไม่มีภูมิคุ้มกันโรคอีสุกอีใส

ผื่นในโรคอีสุกอีใส มีลักษณะเฉพาะคือ ผื่นจะเริ่มจากตุ่มแดง กลายเป็นตุ่มใส และแตกออกเป็นสะเก็ด เมื่อผื่นขึ้นแล้ว 2-3 วัน จะเห็นตุ่มหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่ผื่นจะขึ้นที่ลำตัวและใบหน้ามากกว่าแขนขา เด็กที่ป่วยเป็นอีสุกอีใส จะมีอาการไม่รุนแรง และพบภาวะแทรกซ้อนทางปอด และทางสมองได้น้อยกว่าผู้ป่วยเด็กโตและผู้ใหญ่ แต่พบการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนังได้บ่อย ทำให้เกิดแผลเป็นที่ผิวหนังและอาจถึงขึ้นทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมา

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็ก อีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่ายในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคนี้หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ที่มีการสัมผัสหรือหายใจร่วมกัน โรคนี้สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ง่ายมาก เพราะเชื้ออยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานและผู้ป่วยอีสุกอีใสสามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่นได้หลายวัน ตั้งแต่ 1-2 วัน ก่อนมีไข้และผื่น จนถึงเมื่อตุ่มสุดท้ายตกสะเก็ด หรือประมาณ 7 วัน หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการ

โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายเองได้ อาจจะมีไข้เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยากลุ่มพาราเซทามอลเพื่อลดไข้ได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด ควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ ในรายที่คันมาก ๆ อาจให้ยาแก้คัน

การป้องกันโรคอีสุกอีใสเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสอีสุกอีใสให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ช่วงออกอาการไข้ไปจนถึงช่วงแผลแห้งตกสะเก็ด อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันที่ได้ผลดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ซึ่งช่วงวัยที่ควรได้รับวัคซีนมากที่สุดคือวัยเด็ก โดยวัคซีนอีสุกอีใสสามารถฉีดร่วมกันกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน โรคหัดหรือโรคคางทูม ข้อควรระวังคือการฉีดวัคซีนรวมอาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการไข้และชัก ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 23 เดือน

ทั้งนี้ เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มพบว่าร้อยละ 99 ของผู้รับวัคซีนจะเกิดภูมิต้านทานต่อโรค ผู้ที่ได้รับวัคซีนส่วนหนึ่งยังอาจเกิดโรคอีสุกอีใสได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง เช่น อาจไม่มีไข้ หรือจำนวนผื่นน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *