ระยะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการสร้างรากฐานชีวิตจิตใจของมนุษย์ โดยเด็กจะเรียนรู้จากประสบการณ์ การเลี้ยงดู และภาวะแวดล้อมได้เร็ว และฝังลึกในจิตใจ จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการสร้างความรักความผูกพันกับเบบี๋ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพค่ะ
หนังสือคู่มือการส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด – 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ระบุถึงแนวทางปฏิบัติการสร้างความผูกพัน ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ สรุปได้ดังนี้
วิธีการ : ให้ความรักและเอาใจใส่เด็ก
ถ้าได้รับ: เด็กจะเติบโตเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี จิตใจมั่นคงเชื่อมั่นในตัวเอง มีอารมณ์สุขุม หนักแน่น
ถ้าไม่ได้รับ: เด็กจะไม่เกิดความผูกพันและไม่ไว้วางใจผู้อื่น ขาดความอบอุ่น ขาดความมั่นคงทางใจ
วิธีการ : ให้เด็กมีโอกาสช่วยเหลือตนเอง
ถ้าได้รับ : เด็กจะรู้จักคิด รู้จักทำ มีความรับผิดชอบ และรู้จักพึ่งพาตนเอง
ถ้าไม่ได้รับ : เด็กจะกลายเป็นคนทำอะไรไม่เป็น แก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ความรับผิดชอบไม่ดี
วิธีการ : ให้เด็กรู้จักรอคอย อดทนและอดกลั้น
ถ้าได้รับ : เด็กจะควบคุมอารมณ์ได้ดี มีความยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งที่มายั่วยุได้ ตัดสินใจได้ว่าสิ่งใดควรกระทำ
ถ้าไม่ได้รับ : เด็กมักเติบโตเป็นคนเอาแต่ใจ อารมณ์เสียง่าย เครียดง่าย ทุกข์ง่าย ทำใจไม่ได้เมื่อผิดหวัง
วิธีการ : ให้เด็กรู้จักปรับตัว เผชิญและแก้ปัญหาด้วยตนเอง
ถ้าได้รับ : เด็กจะมีความมุ่งมั่นไปสู่ความสำเร็จ รู้จักพลิกแพลงแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ถ้าไม่ได้รับ : เด็กจะกลายเป็นคนขาดความพยายาม ไม่อดทน ไม่กระตือรือร้น ท้อถอยง่ายเมื่อเผชิญปัญหา
วิธีการ : ให้เด็กมีโอกาสได้เล่น
ถ้าได้รับ : เด็กจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น ฝึกยอมรับ และแก้ไขความผิดพลาด รู้จักมีอารมณ์ขันและสนุก เบิกบาน ได้เรียนรู้การเป็นผู้นำ ผู้ตาม และการร่วมงานกับผู้อื่น ซึ่งจะนำไปใช้ในชีวิตจริง
ถ้าไม่ได้รับ : เมื่อโตขึ้นมักจะเข้าสังคมยาก ไม่รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ขาดความกระฉับกระเฉงในการทำงาน
วิธีการ : ให้เด็กรู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือ และเข้าใจผู้อื่น
ถ้าได้รับ : เด็กจะเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่นๆ ทั่วไป และสามารถประสานความร่วมมือกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น
ถ้าไม่ได้รับ : เด็กจะเป็นคนที่นึกถึงแต่ตัวเอง ใจแคบ ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เข้ากับคนอื่นได้ยาก
พ่อแม่ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ซึ่งจำเป็นต้องให้เวลาและเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างกัน ความมั่นคงทางใจ ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจจะมีความสำคัญต่อชีวิตของเด็กมากค่ะ