พัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก อาทิ การสื่อสาร การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ล้วนมีความเชื่อมโยงกับอวัยวะส่วนต่างๆ ของเด็ก ซึ่งหากเกิดอาการผิดปกติ พ่อแม่ควรใส่ใจ เพราะสัญญาณเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็กสามารถแก้ไขได้ด้วยการบำบัดและกระตุ้นพัฒนาการ
พัฒนาการ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทักษะต่างๆ ตามวัยตลอดชีวิต โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรก จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการอย่างมากและสามารถสังเกตเห็นได้เด่นชัด ซึ่งจะสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของสมอง หากมีการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูสภาพ หรือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในช่วงวัยเด็กเล็ก จะช่วยลดความรุนแรงหรือบำบัดให้เป็นปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็กสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการบำบัดและการกระตุ้นพัฒนาการรูปแบบต่างๆ เช่น การบำบัดด้านการพูด กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การบำบัดด้านความคิด พฤติกรรม การฝึกทักษะการเข้าสังคม
รูปแบบในการดูแลรักษาทางการแพทย์นั้น มีหลากหลายเทคนิค เช่น แผนปัจจุบัน แผนไทย แผนจีน ให้บริการโดยบุคลากรหลายวิชาชีพ ซึ่งมีการรับรองมาตรฐานสองระบบ คือ สภาวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย และคณะกรรมการวิชาชีพ ภายใต้การดูแลของกองสถานพยาบาลและกองประกอบโรคศิลปะ เช่น นักกิจกรรมบำบัด นักกายอุปกรณ์ นักแก้ไขการพูด แพทย์แผนจีน
นักกิจกรรมบำบัด (Occupational therapist) ทำหน้าที่ในการฟื้นฟูคนไข้ที่มีความผิดปกติทางด้านร่างกาย และจิตใจ รวมไปถึงช่วยเรื่องการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็กให้สมวัยอีกด้วย โดยวัตถุประสงค์ของนักกิจกรรมบำบัดคือ ต้องการให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวัน อย่างดีที่สุดตามศักยภาพของบุคคล เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคมต่อไปได้ โดยงานกิจกรรมบำบัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ฝ่ายคือ ฝ่ายเด็ก สูงอายุ กาย จิตสังคม
สำหรับนักกิจกรรมบำบัดฝ่ายเด็ก จะให้บริการด้านการกระตุ้น พัฒนาการเด็ก ให้เหมาะสมตามวัยที่ควรจะเป็น เช่น เด็กสมองพิการ เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ สังคม จิตใจ และพฤติกรรม เด็กพิการทางร่างกาย เด็กพิการซ้ำซ้อน เด็กที่มีการเรียนรู้ช้า เด็กดาวน์ซินโดรม มีการดัดแปลงอุปกรณ์เพื่อช่วยให้เด็กสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันต่อไปได้
พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบว่าผู้ให้บริการที่จะเข้ารับการรักษานั้น ได้รับการรับรองหรือไม่ จากเว็บไซต์ของแต่ละสภาวิชาชีพ หรือเว็บไซต์ ของกองสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ กรณีที่ผู้ให้บริการดังกล่าว เปิดคลินิกจะต้องติดป้ายแสดงชื่อคลินิก และหมายเลขจดทะเบียนตามที่กองประกอบโรคศิลปะกำหนด ถ้าไม่มีถือว่าผิดกฎหมาย และเสี่ยงต่อการรักษาที่ผิดพลาด
การกระตุ้นพัฒนาการ มีทั้งกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ รวมทั้งความคิดอ่าน การปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม การฝึกพูด ฝึกเขียน แนะให้พ่อแม่ ผู้ปกครองตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสถานพยาบาล หรือหน่วยงาน สถานที่ ที่จะเข้ารับการรักษาเพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยของบุตรหลาน สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะรับบริการแบบใด ควรสอบถามผู้บำบัดถึงเป้าหมายของการบำบัดรักษาในแต่ละครั้ง และฝึกหัดการจัดกิจกรรมพัฒนาการจากผู้บำบัด เพื่อให้พ่อแม่มาทำต่อเนื่องที่บ้าน เพราะผู้บำบัดให้เวลาได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์แต่พัฒนาการของเด็กเกิดขึ้นทุกวินาที
ทั้งนี้ โอกาสที่เด็กกลับมามีพัฒนาการสมวัยมีอัตราที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ความสม่ำเสมอในการบำบัด และความร่วมมือของคนในครอบครัว