เรื่องเจ็บป่วยเป็นได้กันหมดไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่เด็กๆ ทารกนั้น นอกจากเขาจะบอกไม่ได้ว่าเขาป่วยเป็นอะไรแล้ว ทารกยังมีอาการตอบสนองไวต่อยามากกว่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ อีกด้วย
ดังนั้น เรื่องการเลือกรับประทานยาอะไร ทานแค่ไหนจึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นพิเศษด้วย อย่างไรก็ตาม คำแนะนำดังต่อไปนี้จะช่วยให้คุณคัดยาเหล่านี้ออกไปได้เลย เพราะมันไม่สามารถให้เด็กอ่อนทานได้เลย
1.ยาชนิดเคี้ยว
สำหรับหนูน้อยวัยเตาะแตะ หรือเด็กอ่อน ยาชนิดเคี้ยวสามารถติดคอและเป็นอันตรายต่อลูกได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาชนิดเคี้ยวกับลูก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่าสามารถบดยาก่อนให้ลูกรับประทานหรือผสมในอาหารอ่อนหรือนมหรือน้ำดื่มได้หรือไม่ นอกจากนี้ ควรมั่นใจว่าเจ้าตัวน้อยจะกินยาที่บดจนหมด เพื่อให้ได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสมด้วย
2.ยาสำหรับผู้ใหญ่-ยาเด็กโต
การให้ยาสำหรับผู้ใหญ่แก่เด็กวัยทารก-2ปี แม้จะให้ในปริมาณที่น้อยลง แต่ก็มีอันตรายไม่ต่างอะไรกับยาพิษ คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่อาจไม่ทันคิดว่ายาสำหรับทารกที่ให้ในปริมาณน้อยนั้น ในความเป็นจริงแล้วอาจมีตัวยาที่เข้มข้นมากกว่ายาน้ำสำหรับเด็กอ่อน ดังนั้น การนำยาสำหรับเด็กโตมาให้เด็กวัยเด็กเล็กหรือเด็กอ่อนในปริมาณที่มากขึ้น อาจทำให้เจ้าตัวน้อยได้รับยาเกินขนาดได้ หากฉลากยาไม่ได้ระบุอายุ น้ำหนัก และปริมาณสำหรับวัยของลูกคุณ ก็ไม่ควรกะปริมาณยาให้ลูกรับประทานด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด นอกจากนี้แม้ในเด็กที่อายุเท่ากันแต่น้ำหนักตัวไม่เท่ากัน ก็ยังได้รับปริมาณยาที่ต่างกันด้วย ดังนั้น ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาดีกว่า
3.ยาแก้เมารถ
ควรหลีกเลี่ยง ยาแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน นอกเสียจากว่าเป็นยาที่แพทย์สั่ง เพราะอาการเหล่านี้แม้อาจจะทำให้ลูกอาเจียน แต่ก็เป็นอาการระยะสั้น และร่างกายของลูกก็สามารถรับมือได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพายาใดๆ ในทางกลับกันหากคุณให้ลูกกินยาเหล่านี้ แทนที่ลูกจะหายอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาก็ได้
4.แอสไพริน
อย่าให้ยาแอสไพริน หรือยาใดๆ ที่มีตัวยาแอสไพรินเป็นส่วนประกอบ แก่หนูน้อยวัยทารก-2 ปี หรือถ้าจะให้มั่นใจไม่ควรให้ยาชนิดนี้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีเด็ดขาด เพราะตัวยาแอสไพริน อาจทำให้ลูกของคุณไวต่อภาวะที่เรียกว่า Reye’s syndrome ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ยาก แต่มีความร้ายแรงถึงชีวิต
นอกจากนี้ ไม่ควรมั่นใจว่ายาสำหรับเด็กทุกชนิดจะไม่มีตัวยาแอสไพริน (aspirin’s free) คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านฉลากยาทุกครั้งก่อนป้อนยาให้ลูก สำหรับหนูน้อยที่มีไข้ ควรเลือกใช้ยาประเภท acetaminophen หรือ ibuprofen ในปริมาณที่เหมาะสม จะปลอดภัยกว่า ยกเว้นแต่ว่าเจ้าตัวน้อยมีอาการอาเจียน หอบหืด ไตมีปัญหา หรือมีภาวะป่วยเรื้อรังอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ยาทั้ง 2 ชนิดข้างต้น
5.น้ำเชื่อม ipecac (syrup of ipecac)
โดยปกติยาประเภทนี้มีไว้สำหรับการทำให้อาเจีนกรณีที่กลืนกินสารพิษเข้าไป แต่ในช่วงหลังมานี้แพทย์ไม่เลือกใช้ยาประเภทนี้ล้ว เพราะไม่มีผลพิสูจน์แน่ชัดว่าน้ำเชื่อม ipecac ช่วยรักษาร่างกายจากการได้รับสารพิษได้ ในทางกลับกันน้ำเชื่อมนี้อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยอาจทำให้ลูกมีอาเจียนไม่หยุดได้
6.ยาหมดอายุ
อันนี้ต้องเช็คให้ดีอย่างยิ่งยวดทีเดียวค่ะ เพราะผู้ปกครองบางท่านอาจจะคิดว่าหยวนๆ ให้ทานได้ แต่มันคือภัยร้ายใกล้ตัวดีๆ นี่เอง ยาหมดอายุ ยาที่เปลี่ยนสภาพ ซองขาด เก็บไว้นานจนไม่แน่ใจ ควรนำไปทิ้งมากกว่าจะนำมาป้อนให้ลูกค่ะ
นอกจากนี้ การทิ้งยาที่ถูกวิธีคือดูฉลากยาว่าระบุวิธีทิ้งไว้หรือไม่ ยาบางชนิดสามารถทิ้งลงชักโครกได้เลย แต่หากไม่มีระบุในกรณีที่เป็นยาน้ำควรเทใส่ขวดแก้วที่มีฝาปิด เช่น ขวดกาแฟที่ไม่ใช่แล้ว ปิดฝาให้สนิท สำหรับขวดยาเปล่าๆ ควรขีดชื่อและทำลายข้อมูลส่วนตัวก่อนทิ้งลงถังขยะค่ะ
7.ยาที่ระบุชื่อคนอื่น
คุณพ่อคุณแม่บางท่าน อาจจะคิดว่ายาของลูกหลานในบ้านอายุเท่ากับลูกของคุณและมีอาการคล้ายกันอาจจะนำมาทานแทนกันได้ แต่อันที่จริงแล้วผิดถนัด! เพราะการที่แพทย์หรือเภสัชกรให้ยามานั้น ได้พิจารณาจากอาการและน้ำหนักตัวของน้องที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อเงื่อนไขในการใช้ต่างกันก็ไม่ควรนำมาทานกันได้ จึงไม่ควรให้ลูกรับประทานยาที่ระบุชื่อคนอื่นเด็ดขาด
8.ยาอื่นๆ ที่มีตัวยา อะเซตามีโนเฟน
อะเซตามีโนเฟน หรือที่รู้จักกันในชื่อพาราเซตามอน มักเป็นส่วนประกอบในยาหลายชนิดสำหรับเด็ก ดังนั้น ก่อนจะให้ลูกกินยาแต่ละชนิดควรมั่นใจว่า ยาแต่ละอย่างไม่ได้มีส่วนประกอบของยาที่ซ้ำกัน เช่น ในยาแก้ไข้ก็มีตัวยาพาราฯ ในยาแก้ปวด ก็มียาพาราฯ อีก ไม่เช่นนั้นหนูน้อยอาจได้รับปริมาณ อะเซตามีโนเฟน มากเกินไป
ทราบอย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ก่อนจะให้ลูกน้อยรับประทานยาอะไรควรพิจารณาและเพิ่มความรอบคอบก่อนนะคะ เพราะคำว่า “ยา” ถ้าใช้ในทางที่ผิดก็คือคำๆ เดียวกับคำว่า “ยาพิษ” นั่นเอง