พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมองว่าปัญหา “ทารกพิการแต่กำเนิด” เป็นเรื่องไกลตัว แท้จริงแล้วปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ โดยองค์การอนามัยโลกได้สำรวจความพิการแต่กำเนิดในทารกทั่วโลกพบว่า มีทารกพิการแต่กำเนิด 3-5% หรือปีละประมาณ 8 ล้านคน จากทารกที่คลอดประมาณ 130 ล้านคนต่อปี
ข้อมูลจาก นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ระบุว่า ความพิการแต่กำเนิดแบ่งได้ เป็น 2 ส่วน
- ความพิการทางด้านโครงสร้างของร่างกาย เช่น คลอดออกมาแล้วเป็นโรคหัวใจ ปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาขาด
- ความพิการของการทำงานในหน้าที่และภาวะร่างกาย เช่น มีภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่องหรือกลุ่มโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้วิเคราะห์ฐานข้อมูลความพิการแต่กำเนิด 20 โรคของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสปสช.ที่เก็บข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข 77 จังหวัด พบว่าในปี 2561 จากเด็กทารกแรกเกิด 640,919 ราย พบภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก 2.17 % คิดเป็น 13,877 รายของเด็กเกิดมีชีพ
สำหรับความพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่
- โรคหัวใจแต่กำเนิด
- แขนขาผิดรูป
- ปากแหว่งเพดานโหว่
- กลุ่มอาการดาวน์
ทั้งนี้ ความพิการแต่กำเนิดปัจจุบันส่วนใหญ่ประมาณ 70% สามารถแก้ไขและรักษาได้ รวมถึงฟื้นฟูให้เด็กสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพของมารดา การวางแผนการตั้งครรภ์ ช่วยไม่ได้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ด้วย การรับประทานโฟเลตตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งตั้งครรภ์ครบ 3 เดือน การดูแลสุขภาพของมารดารวมถึงดูแลโรคต่างๆ ในมารดาที่เป็นอยู่ให้คงที่ หลีกเลี่ยงการติดเชื้อต่างๆ ในมารดาและลดภาวะปัจจัยเสี่ยง เช่นงดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการใช้สารหรือยาต่างๆ ที่มีผลต่อเด็กในครรภ์ เป็นต้น
ความพิการแต่กำเนิดเป็นปัญหาที่รุนแรง เพราะอาจทำให้เด็กมีภาวะตั้งแต่พิการและรุนแรงสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น เป็นเรื่องที่ว่าที่พ่อแม่มือใหม่ต้องใส่ใจให้มากค่ะ