เมื่อเจ้าตัวเล็กมีพฤติกรรมไม่น่ารัก เช่น ซุกซน ดื้อรั้น เอาแต่ใจ โกหก ชอบใช้กำลัง เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะคอยปรับพฤติกรรมของเบบี๋ให้เข้ารูปเข้ารอย เพราะการปล่อยผ่านหรือตามใจ ยิ่งเป็นการบ่มเพาะความรุนแรงของเด็ก ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจนยากจะรับมือค่ะ
ข้อมูลจากหนังสือ เคล็ดลับปรับพฤติกรรมสร้างนิสัยใหม่ให้ลูก โดย สสส. สรุปความได้ว่า
การปรับพฤติกรรมเด็กเล็กไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ เพียงเข้าใจพัฒนาการให้ความรัก ความเมตตา สื่อสารให้ถูกต้อง และปรับสิ่งต่างๆ
โดยให้ลองเริ่มแบบนี้ค่ะ
- ปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันอันตราย แทนที่จะต้องห้ามปราม เพราะเด็กเล็กชอบสำรวจหรือปีนป่าย
- จัดตารางการกินนอนหรือกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลาและฝึกให้เด็กปรับตัวได้ง่ายขึ้น
- ใช้วิธีเบนความสนใจ ช่วยหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการได้ เนื่องจากเด็กเล็กอยู่ในวัยที่สมาธิค่อนข้างสั้น
- บอกและสอนว่าอะไรที่เด็กทำได้หรือไม่ได้ รวมทั้งหาทางออกว่าควรทำอย่างไร
- เพิกเฉย เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการของเด็ก ไม่ตามใจหรือโอ๋ตลอดเวลา รอให้หยุดร้องแล้วค่อยเข้าไปพูดคุย
- ฝึกให้รับผิดชอบผลของการกระทำ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ถูกต้อง เว้นแต่ในกรณีที่พฤติกรรมนั้นก่อเกิดผลรุนแรง เช่น เด็กปีนที่สูง ต้องรีบหยุดพฤติกรรมนั้นโดยเร็วที่สุด
- เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะเด็กชอบเลียนแบบผู้ใหญ่ หากได้เห็นพฤติกรรมที่ดี แม้ไม่เข้าใจเหตุผลก็พร้อมทำตามและค่อยๆ เรียนรู้และซึมซับ พ่อแม่และคนใกล้ชิดจึงควรแสดงพฤติกรรมที่ดีสม่ำเสมอ
- แยกให้อยู่ลำพังชั่วคราว เมื่อทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในเด็ก ช่วงไม่เกิน 6 ปี ได้ผลดีมาก ไม่ควรสนใจโต้ตอบ รวมทั้งไม่ให้นั่งบริเวณที่มีของเล่น ห้องน้ำ และห้องมืด เมื่อหมดเวลาให้พูดคุยและสอนสิ่งที่ควรทำแบบไม่ใช้อารมณ์
- ชมเชยทั้งคำพูดและสีหน้าอย่างจริงใจเพื่อเป็นแรงเสริมทางบวก ทำให้เด็กเรียนรู้และทำพฤติกรรมที่ดีนั้นต่อไป ไม่ควรเปรียบเทียบหรือพูดเสียดสีขณะชมเด็ก
- ลงโทษ ที่ไม่ใช่วิธีแรกหรือวิธีที่ใช้บ่อยๆ เพราะเด็กอาจไม่เข้าใจ และส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและจิตใจเด็กได้ ควรลงโทษเมื่อเด็กทำพฤติกรรมรุนแรงชนิดที่ต้องหยุดในทันที ไม่จำเป็นต้องดุด่าหรือ ตี เปลี่ยนเป็นกักบริเวณ ตัดรางวัล เป็นต้น
ช่วงแรกๆ ของการปรับพฤติกรรมอาจมีงานน้ำตาบ้าง พ่อแม่ก็ต้องอดทนและใจแข็งเข้าไว้นะคะ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเบบี๋จะเริ่มทำความเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมค่ะ