“ท้องผูก” นับเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กวัยแรกเกิน-3 ปี โดยเบบี๋จะถ่ายอุจจาระแข็ง ขนาดใหญ่ หรือมีความยากลำบากในการถ่ายอุจจาระ อาจมีเลือดปนในอุจจาระ หรือมีแผลบริเวณทวารหนัก หรือมีการคั่งค้างที่ผิดปกติของอุจจาระ ไม่อยากให้ลูกเผชิญกับความเจ็บปวดนี้ เรามีค้นหาสาเหตุพร้อมวิธีแก้ปัญหากัน
สาเหตุที่เบบี๋ท้องผูก
1. กินอาหารไม่เหมาะสม เช่น การกินนมผสมมีโอกาสที่จะเกิดอาการท้องผูกมากกว่ากินนมแม่ เนื่องจากไขมันในนมผสมจะรวมตัวกับแคลเซียมในนม เกิดเป็นก้อนแข็งในอุจจาระ ทำให้ไม่อยากถ่ายอุจจาระ เวลาจะถ่ายอุจจาระจะร้องวุ่นวายมาก เพราะรอยแผลบาดที่รูก้น, เด็กเปลี่ยนจากนมแม่หรือนมวัวดัดแปลงมาเป็นนมวัวธรรมดาอาจเกิดท้องผูกได้ เนื่องจากนมวัวมีอัตราส่วนของโปรตีนต่อคาร์โบไฮเดรตสูงกว่านมแม่, เด็กไม่ชอบรับประทานผักและผลไม้, เด็กที่ดื่มน้ำน้อยหรือสูญเสียน้ำมากจากอากาศที่ร้อนหรือเป็นไข้ อุจจาระจึงมีลักษณะที่แข็งขึ้นทำให้ขับถ่ายลำบาก
2. สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เช่น การเข้าโรงเรียนใหม่ การเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ และเด็กยังปรับตัวไม่ได้
3. เด็กชอบกลั้นอุจจาระบ่อย ๆ สืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุ อาทิ เด็กเจ็บก้นจากอาการท้องผูกเรื้อรังจึงกลั้นอุจจาระเพราะไม่อยากขับถ่าย เด็กห่วงเล่นและกลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย
4. การใช้ยาบางอย่าง เช่น ยากันชัก ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียม ยาต้านมะเร็งบางตัว เป็นต้น
5. โรคบางอย่างที่นำมาด้วยอาการท้องผูก เช่น โรคที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ โรคลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไม่มีปมประสาท โรคเกี่ยวกับประสาทไขสันหลัง ภาวะผิดปกติของเกลือแร่แคลเซียมและโพแทสเซียม เด็กมักมีปัญหาพัฒนาการช้าร่วมด้วย ฯลฯ หากสงสัยโรคดังกล่าวควรพาลูกไปพบแพทย์
6. เด็กที่ถูกถูกบีบบังคับให้ฝึกขับถ่ายเร็วเกินไปยังไม่พร้อมที่จะขับถ่ายเอง หรือเด็กที่มีความกังวลเกี่ยวกับการขับถ่าย ทำให้เกิดความเครียดและมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและพ่อแม่
วิธีการแก้ปัญหาเบบี๋ท้องผูก
1. ถ้าเด็กอายุ 1-3 เดือน ยังกินนมแม่และนมผสม ควรงดนมผสมทั้งหมด ถ้าไม่ดีขึ้นให้น้ำส้มคั้น โดยไม่ต้องเจือจาง ถ้าอุจจาระลูกยังแข็ง ให้เปลี่ยนเป็นน้ำลูกพรุน อย่างไรก็ตาม เมื่อทารกท้องผูกควรให้นมตามปกติ เนื่องจากการกินนมไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ คุณแม่ต้องแน่ใจด้วยว่าได้ให้นมเพียงพอกับความต้องการของเบบี๋แล้ว
2. สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรให้กินข้าวบดละเอียดผสมกับผักตุ๋น และเพิ่มน้ำผลไม้ หรือใช้น้ำลูกพรุนสกัดเจือจางด้วยน้ำต้มสุกอย่างละเท่า ๆ กัน ค่อย ๆ ป้อนเด็กน้อย โดยเริ่มจาก 15-20 ซีซีวันละครั้ง และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ
3. ดูแลให้ลูกกินอาหารที่มีกากใยมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้อุจจาระอ่อนตัวและขับถ่ายได้สะดวกขึ้น
4. ฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เด็กถ่ายอุจจาระทันทีที่มีความรู้สึกอยากถ่าย รวมถึงฝึกให้เด็กนั่งอุจจาระทุกวันหลังอาหารเช้า เย็น นานครั้งละ 5-10 นาที ทุกวันในเวลาเดิม โดยเวลาที่เหมาะสมคือหลังเวลาอาหาร เพราะจะมีการกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวช่วยให้ก้อนอุจจาระเลื่อนผ่านออกมาง่ายขึ้น พ่อแม่ควรทำบันทึกไว้ทุกครั้ง พร้อมทั้งให้คำชมเชยเมื่อลูกทำได้ หากลูกต้านการใช้กระโถน ควรเว้นไปสักระยะก่อน รอจนกว่าลูกจะพร้อม แล้วค่อยฝึกใหม่
ทั้งนี้ พ่อแม่ไม่ควรทิ้งปัญหาไว้นานจนทำให้ลูกไม่อยากถ่ายอุจจาระ เพราะจะยิ่งทำให้ท้องผูกเป็นมากขึ้น หมั่นสังเกตพฤติกรรมของเบบี๋ หากพบความผิดปกติให้รีบแก้ปัญหาหรือ ถ้าเป็นมากควรพาไปพบแพทย์