“ชัก” เป็นอาการที่พบได้ในทารก โดยเบบี๋จะมีอาการกระตุกแขนขาน้อยๆ หรือแรงถี่กล้ามเนื้อเกร็ง ตาเหลือกค้าง กัดฟันหรือลิ้น อาจมีอาการหมดสติร่วมด้วย การชักอาจเป็นทั้งตัว หรือเป็นเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ไปทำความรู้จักสาเหตุการชักในเบบี๋วัยไม่เกิน 1 เดือนกันค่ะ
สาเหตุที่สำคัญของอาการชักในทารกแรกคลอดวัยไม่เกิน 1 เดือน
- ได้รับอันตรายจากการคลอด การคลอดยากการใช้เครื่องมือช่วยคลอด ทำให้มีเลือดออกในสมองหรือเด็กคลอดออกมาแล้วไม่หายใจ ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง เป็นสาเหตุของการชักที่สำคัญในวัยนี้
- มีภาวะเสียสมดุลของน้ำตาลหรือเกลือแร่บางชนิดในเลือด เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับธาตุแคลเซียม หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ หรือระดับธาตุโซเดียมสูงในเลือด เป็นสาเหตุการชักในระยะนี้ได้เช่นกัน
- การติดเชื้อของระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบซึ่งมักเป็นผลจากการมีเชื้อโรคในเลือดแพร่กระจายไป
- โรคบาดทะยักในเด็กอ่อน ทำให้เด็กชักแกร่ง โดยเฉพาะเวลาจับต้องเด็ก หรือมีเสียงดัง เด็กจะชักตัวแข็งอ้าปากไม่ขึ้นเพราะขากรรไกรแข็ง สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดนี้ เกิดจากการทำคลอดไม่สะอาด เช่น คลอดโดยหมอตำแยที่ไม่ได้รับการอบรม โดยใช้กรรไกรหรือมีดไม่สะอาด หรือใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือ นอกจากนั้นยังมักใช้ก้อนดินก้อนหินวางรองสายสะดือก่อนตัด ซึ่งเชื้อบาดทะยัก พบมากในดินก็จะเข้าร่างกายทางสายสะดือ และก่อโรคบาดทะยักต่อมาในระยะเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์
- ยาบางชนิดอาจเป็นสาเหตุการชักในเด็กแรกคลอดได้นอกจากนั้น มารดาที่ติดยาเสพติดประเภทมอร์ฟีน หรือเฮโรอีน บุตรที่คลอดออกมาเมื่อไม่ได้รับยาดังกล่าว ซึ่งก่อนเคยได้รับโดยผ่านทางมารดาอาจเกิดการชักซึ่งมักมีอาการน้ำลายฟูมปากร่วมด้วย
- ความพิการของระบบประสาทโดยเฉพาะของสมอง
หากลูกมีอาการแปลกๆ น่าสงสัย แต่ไม่แน่ใจว่าใช่อาการชักหรือเปล่า ให้คุณพ่อคุณแม่ถ่ายคลิปวิดีโอไว้ และพาเบบี๋ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกวิธีนะคะ