การร้องกลั้น หรือ breath – holding spell คือการที่เจ้าตัวเล็กร้องไห้นานจนช่วงที่ร้องซึ่งเป็นจังหวะที่หายใจออกนั้นยาวนานเหมือนกลั้นหายใจจนบางครั้งทำให้ใบหน้า ปาก และ เล็บเขียว บางรายถึงกับนิ่งไปชั่วขณะประมาณ 10 – 20 วินาที แล้วก็ร้องดังขึ้นมาใหม่
ทำอย่างไรเมื่อลูกร้องกลั้น?
สาเหตุที่ทำให้ลูกร้องกลั้นนั้นเกิดจากการที่เจ้าตัวเล็กร้องไห้อย่างรุนแรงด้วยความโกรธหรือถูกขัดใจแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องตามใจลูกไปเสียทุกอย่าง เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะทำให้ลูกเคยตัว และจะใช้วิธีร้องกลั้นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ แถมยังทำให้เจ้าตัวเล็กกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นวิธีที่ถูกต้องคือ…
- เวลาที่ลูกถูกขัดใจ อย่าปล่อยให้ลูกโกรธจนถึงขีดสุด ควรพยายามหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปหาสิ่งอื่น
- เมื่อลูกร้องกลั้น ให้คุณกอดลูกไว้โดยไม่ต้องพยายามหาวิธีแก้ไขใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขย่าตัวลูกหรือตบหน้าเพื่อให้ลูกหยุดร้อง เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังอาจทำให้ลูกโกรธและร้องกลั้นมากขึ้น
- สำรวจดูว่าลูกอมอะไรไว้ในปากขณะที่ร้องกลั้นหรือไม่ ถ้ามีให้รีบหยิบออกเพราะอาจทำให้ลูกสำลักหรือติดคอจนทำให้เกิดอันตรายได้
- อย่าแสดงอาการตื่นตกใจเวลาที่ลูกร้องกลั้น เพราะอาจทำให้ลูกตกใจมากขึ้นหรืออาจทำให้ลูกเคยตัว ต่อไปลูกจะใช้วิธีร้องกลั้นเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณ
- ทั้งคุณพ่อคุณแม่และสมาชิกทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่คนหนึ่งห้ามแต่อีกคนตามใจ ถ้าเป็นแบบนี้คงแก้ไขได้ยากค่ะ
การร้องลักษณะนี้สามารถพบได้บ่อยในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึงอายุ 2 – 3 ขวบ หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ หายไปเองโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไร เพราะการร้องกลั้นนั้นไม่มีอันตรายต่อสุขภาพร่างกายหรือสมองของลูก
สำหรับอาการเขียวที่เกิดจากการร้องกลั้นก็ไม่มีอันตรายร้ายแรงเช่นกัน ยกเว้นในเด็กที่มีโรคหัวใจหรือโรคระบบหลอดเลือด ถ้าเป็นกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย