รวมกิจกรรมเพิ่มเติมสำหรับเบบี๋เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่

0

กล้ามเนื้อมัดใหญ่ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกาย กล่าวคือ เป็นส่วนสำคัญสำหรับการทรงตัว ช่วยให้ขยับตัวหรือเล่นกีฬาได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว นี่คือกิจกรรมสำหรับลูกน้อยเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และประสานการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่

รวมกิจกรรมสำหรับเบบี๋เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ตอนที่ 1

รวมกิจกรรมเพิ่มความแข็งแรงและประสานการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กอายุ 0 – 3 ปี (2)

16. ให้โอกาสเด็กคลานขึ้นบันไดโดยพ่อแม่ระวังด้านหลัง

17. ฝึกให้เด็กเดินข้ามสิ่งของเตี้ย ๆ ที่วางบนพื้น โดยพ่อแม่ทำให้ดูก่อน แล้วให้เด็กทำตามและชมเชยทุกครั้งที่เด็กทำได้

18. ชวนเด็กวิ่งเล่น เตะลูกบอล โยน และกลิ้งลูกบอลในที่โล่งกว้าง โดยเลือกลูกบอลขนาดต่าง ๆ ที่เหมาะกับเด็ก

19. จูงมือเด็กขึ้นบันได โดยให้เด็กใช้มืออีกข้างหนึ่งจับราวบันได และบอกให้เด็กมองเท้าของตนเอง

20. ชวนเด็กวิ่งเล่น ออกกำลังกาย ฝึกการทรงตัวในที่โล่งกว้าง เช่น เดินเป็นจังหวะ วิ่งไล่จับ กระโดดกระต่ายขาเดียว โดยผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู

21. เล่นเกมตามคำสั่ง ทำท่าทางตามจังหวะเพลง ทำตามคำบอก หรือให้มีการนั่ง ลุก ยืน เขย่ง ยืน เดิน กระโดด ตบมือ หมุนตัว โดยผู้ใหญ่ หรือเด็กโตทำเป็นตัวอย่าง เริ่มด้วยท่าทาง 2-3 อย่าง และจังหวะช้า ๆ เมื่อคล่องขึ้น จึงเพิ่มท่าทาง

22. ให้โอกาสเด็กฝึกขึ้นลงบันได เริ่มจากจูงขึ้นลงบันได เมื่อเด็กก้าวมั่นคงแล้ว จึงให้เด็กก้าวขึ้นลงด้วยตนเอง โดยผู้ใหญ่คอยเฝ้าระวังใกล้ชิด

23. ให้เด็กมีโอกาสขี่จักรยาน 3 ล้อ หรือ 4 ล้อ

24. สอนให้เด็กรู้จักระวังการบาดเจ็บ เช่น ย่อเข่าเวลาจะกระโดด มองรอบด้านเวลาเดิน วิ่ง หรือกระโดด เวลามุดลอดใต้โต๊ะให้ก้มศีรษะไม่ให้ชน

25. ชวนเด็กโยนลูกบอลลงตระกร้า เริ่มจากระยะใกล้ เมื่อเด็กทำได้ให้ขยับตระกร้าห่างออกไป

26. จัดสภาพแวดล้อม จัดหาของเล่น และเครื่องเล่นให้เหมาะกับวัย ให้เด็กเล่น

ข้อควรระวัง

1. เด็กในวัยนี้ชอบเอาของเข้าปาก ผู้ใหญ่ต้องระวังให้ของเล่นมีความสะอาด และสีวัสดุของเล่นต้องไม่มีพิษ

2. แม้ว่าเด็กจะทรงตัวนั่งได้ดีแล้ว แต่อาจล้มคว่ำ หรือหงายหลังได้ ดังนั้น ควรดูแลใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย

3. เมื่อเด็กคลานได้เองแล้วต้องระวังเด็กคลานตกเตียง คลานตกบันได หรือคลานไปในที่ไม่ปลอดภัย เช่น บริเวณครัว

4. เวลาเด็กคลานได้ เด็กมีแนวโน้มชอบดึงผ้า ดึงเชือก ดึงของ ผู้ใหญ่ต้องดูให้ดีว่าเด็กดึงอะไรเพราะอันตรายเกิดขึ้นได้หลายแบบ

5. ไม่ใช้รถหัดเดินกับเด็ก เพราะเด็กจะไม่พยายามทรงตัวยืนด้วยตนเองทำให้เด็กยืนทรงตัวได้ช้าอาจเดินได้แต่ปลายเท้า และอาจเกิดอุบัติเหตุจากรถหัดเดินพลิกล้มง่าย เมื่อเด็กไถรถวิ่งไปมา

6. เมื่อเด็กอายุช่วง 16-18 เดือน เด็กเดินได้เองและชอบสำรวจ เด็กอาจเดินออกไปที่ถนนเดินไปหยิบ สัมผัสสารพิษ สัตว์เลี้ยง พลัดตกบันได พ่อแม่จึงต้องคอยระวังอยู่ใกล้ๆ

7. ผู้ใหญ่ควรระวังเด็กจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการปีน ป่าย วิ่งชนกัน หรือเครื่องเล่นสนาม

8. เด็กอาจลอกเลียนแบบพฤติกรรมโลดโผนจากสื่อ ผู้ใหญ่จึงควรดูแลใกล้ชิด

หากพบว่าเบบี๋ไม่สามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามสมรรถนะของเด็กวัย 0-3 ปี ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการดูแลอย่างเหมาะสมต่อไป อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจสายเกินแก้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *