แชร์วิธีสร้างสุขนิสัยการนอนที่ดีสำหรับเบบี๋ตัวน้อย

0

การนอนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กทารกแรกเกิดจนถึงเด็กเล็ก ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการนอน คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนอนของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย เพราะการนอนหลับส่งผลถึงการเจริญเติบโตและเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของเบบี๋

การนอนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและสำคัญกับสุขภาพ การนอนหลับของคนเรานั้นมีอยู่ 2 ชนิด คือ การหลับที่สนิทจริง ๆ หรือการหลับลึก เป็นการนอนหลับที่การทำงานของสมองลดลง จะพบว่าลูกนอนหลับเงียบ ใบหน้าสงบ ดวงตาปิดสนิท หายใจสม่ำเสมอ และการเคลิ้มหลับเป็นการนอนที่ยังมีการเคลื่อนไหวของลูกตา และสมองยังมีการทำงาน การหายใจและชีพจรจะเร็วขึ้น และไม่สม่ำเสมอ ความฝันมักเกิดขึ้นช่วงนี้ ที่สำคัญวงจรการนอนของเด็กกับผู้ใหญ่จะไม่เหมือนกัน

ช่วงต้นของเด็กทารก และส่วนใหญ่การนอนจะเป็นการเคลิ้มหลับ แต่เมื่อเด็กโตการเคลิ้มหลับจะลดลง และเด็กจะค่อย ๆ พัฒนาความสามารถในการนอนหลับเอง และนอนในเวลากลางคืนได้นานขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปเด็กอายุ 3 เดือนจะเริ่มมีการพัฒนาทักษะนี้ และสามารถกล่อมตัวเองให้หลับต่อได้เมื่อตื่นกลางดึกโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ช่วย

ดังนั้น ควรฝึกวางลูกนอนหงายลงบนเตียงนอนขณะครึ่งหลับครึ่งตื่น เพื่อให้ลูกกล่อมตัวเองจนหลับได้ ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรให้นมทุกครั้งที่ลูกขยับตัว ปล่อยให้ลูกหลับต่อด้วยตัวเองแล้วลูกจะมีสุขลักษณะการนอนที่ดี ฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตมักจะหลั่งในช่วงของการนอน ดังนั้นจะส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโต และมีพัฒนาการที่ดีตามลำดับ

สำหรับเด็กอายุ 0-1 ปี มักหลับตอนกลางวันบ่อยครั้ง-นอนหลับตอนกลางวัน 2 ครั้ง/ วัน จำนวนชั่วโมงที่ต้องการนอนหลับ 12-16 ชั่วโมง/ วัน ส่วนเด็กอายุ 1-2 ปี หลับตอนกลางวัน 1-2 ครั้ง/ วัน จำนวนชั่วโมงที่ต้องการนอนหลับ 11-14 ชั่วโมง/ วัน  ในส่วนของเด็กอายุ 3-5 ปี หลับตอนกลางวัน 0-1 ครั้ง/ วัน จำนวนชั่วโมงที่ต้องการนอนหลับ 10-13 ชั่วโมง/ วัน

พ่อแม่ควรสร้างสุขนิสัยการนอนที่ดีสำหรับลูก ดังนี้

1. กำหนดเวลาเข้านอน และกิจวัตรประจำวันก่อนนอนให้ชัดเจน ในช่วงกลางวันขณะที่ลูกตื่น ควรกอด อุ้ม เล่น พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ส่วนกลางคืนไม่ควรพูดคุยหรือเล่นกับเด็ก ช่วยทำให้ลูกเข้าใจได้ว่า กลางคืนต้องนอน กลางวันต้องตื่นและเล่น 

2. ไม่ควรให้ลูกนอนช่วงบ่ายหลายชั่วโมงต่อเนื่องกัน เพราะเด็กอาจไม่ยอมนอนในช่วงกลางคืนหรือนอนดึกเกินไป

3. ช่วงกลางวัน ไม่ควรป้อนนมลูกบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้ลูกต้องตื่นมากินบ่อย ๆ ในช่วงกลางคืน

4. ควรวางลูกลงนอนบนเตียงขณะที่ยังไม่หลับ เพื่อฝึกให้ลูกนอนได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องดูดนม อุ้ม พาเดิน เพราะหากลูกตื่นกลางดึกจะได้นอนได้ด้วยตนเอง ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมกลางดึก ให้ทำเงียบ ๆ ไม่เปิดไฟสว่าง ไม่เล่นกับลูก

5. ปรับห้องนอนให้เงียบสงบ ไม่สว่างเกินไป และมีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ควรมีและใช้อุปกรณ์สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในห้องนอน เพราะจะรบกวนการนอนของลูก ควรใช้เตียงสำหรับการนอนหลับเพียงอย่างเดียว ไม่ใช้ห้องนอนเป็นที่ลงโทษลูก

ทั้งนี้ อาจหาตุ๊กตานิ่ม ๆ ผ้าห่ม หมอน ให้เบบี๋กอดหรือใช้เวลานอน เพื่อช่วยลดความกังวลที่จะกลัวการแยกห่างจากแม่ขณะหลับได้ หากลูกตื่นกลางคืนจะได้ใช้กอดและกล่อมตนเองให้หลับได้ โดยไม่ต้องพึ่งหม่าม้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *