ในช่วงหน้าหนาวนี้ มีโอกาสพบโรคติดต่อได้หลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เนื่องจากฤดูหนาวมีสภาพอากาศที่เหมาะต่อการแพร่เชื้อ ที่น่ากลัว คือ ถ้าเจอเชื้อไวรัสนี้ในเบบี๋อายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจจะทำเกิดอาการหยุดหายใจได้
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ระบาดหนักในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว มีอาการคล้ายกับไข้หวัด แต่ก่อความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ติดต่อโดยตรงผ่านสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการเล็กน้อยเหมือนไข้หวัด ได้แก่ มีน้ำมูก เจ็บคอ หรือบางรายมีอาการรุนแรง ได้แก่ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง
โรคติดเชื้อไวรัส RSV พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่อง โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะติดต่อกันได้ง่าย แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมักจะเจอในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนมากตัวเชื้อไวรัสนี้จะลงไปที่หลอดลมฝอย หรือลงไปที่ตัวเนื้อปอด ทำให้เป็นปอดอักเสบ หรือเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ
สิ่งอันตรายที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องระวัง ถ้าเจอเชื้อไวรัสนี้ในเด็กเล็ก ๆ อายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจจะทำเกิดอาการหยุดหายใจได้ ซึ่งถือว่าเป็นเชื้อไวรัสที่อันตรายมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด จะเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ RSV มากกว่ากลุ่มอื่น หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภาวะขาดสารอาหาร ก็มักจะมีโอกาสติดเชื้อ RSV ได้มากกว่าเด็กกลุ่มอื่น
สำหรับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส RSV ทำได้โดย
1. หลีกเลี่ยงการพาเบบี๋ออกนอกบ้าน โดยเฉพาะสถานที่แออัด หรือจุดเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เนอสเซอรี่ แหล่งที่มีเด็กอยู่รวมกันหลาย ๆ คน เช่น บ้านบอล สนามเด็กเล็น หากจำเป็น พยายามให้เบบี๋อยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก
2. ระวังอย่าให้เบบี๋จับสิ่งของสาธารณะต่าง ๆ หากเจ้าตัวเล็กเผลอไปสัมผัสจับต้อง ต้องรีบล้างมือเบบี๋ให้สะอาด
3. เบบี๋ตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี หากต้องไปพบคุณหมอ หรือไปนอกบ้านควรมีผ้าคลุม เพื่อป้องกันละอองฝอยของเชื้อโรค ห้ามสวมหน้ากากอนามัย เพราะอาจทำให้ขาดอาการหายใจได้
4. แยกเด็กป่วยและผู้ใหญ่ที่ป่วยออกจากคนปกติ ไม่ให้คลุกคลีกัน เนื่องจากเด็กเล็กและผู้สูงอายุเมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป
5. ระมัดระวังเรื่องความสะอาด และป้องกันการติดเชื้อ ก่อนจะให้ใครจับตัวเด็ก ควรให้ล้างมือหรืออาบน้ำให้สะอาด โดยเฉพาะพ่อแม่ หรือสมาชิกในครอบครัวที่ไปทำงานนอกบ้าน อาจจะเป็นพาหะที่นำเชื้อจากนอกบ้านมาติดเด็กได้
6. ทำความสะอาดบ้านและข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะของเล่น หรือคอกเล่น หรือที่นอนของลูก
7. ดูแลให้เบบี๋กินอาหารที่มีประโยชน์ให้เหมาะสมตามวัย กระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสมตามวัย รวมถึงดูแลให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ
โดยปกติผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นหลังได้รับการรักษาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ หากเบบี๋มีไข้สูง หายใจลำบาก หายใจเร็ว หรือมีเสียงหวีด หรือมีอาการตัวเขียว ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้