ปกติแล้วเด็กทารกแรกเกิดมักไม่เป็นหวัดจนกว่าจะอายุ 6 เดือน เพราะเด็กมีภูมิต้านทานหวัดเพิ่มเติมจากนมแม่ หลังจากนั้นภูมิต้านทานโรคหวัดจะค่อย ๆ ลดลง ประกอบกับเด็กน้อยอาจจะถูกพาไปนอกบ้าน และได้รับเชื้อโรคหวัดจากคนอื่น หรือจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มากขึ้น จึงมักเป็นไข้หวัดได้บ่อยครั้ง
ไข้หวัด
โรคที่มีอาการที่อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าเด็กที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียสถือว่ามีไข้สูง อาจทำให้เกิดชักได้โดยเฉพาะเด็กเล็ก โดยคุณแม่ควรใช้ปรอทวัดไข้เพื่อประเมินความรุนแรงของไข้
โดยเฉพาะเด็กเล็กวัย 3 เดือน – 2 ปี เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ มาก หลักสำคัญของการรักษาไข้หวัดอยู่ที่การพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์ และให้ยารักษาตามอาการ
วิธีการดูแลเมื่อเบบี๋เป็นไข้หวัด
- เมื่อลูกตัวร้อน มีไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรลดไข้ให้ลูกด้วยการเช็ดตัว โดยถอดเสื้อผ้าของลูกออก แล้วใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาดๆ เพราะน้ำอุ่นช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ความร้อนระบายออกได้ดี
- เช็ดตัวลูก โดยเช็ดแบบย้อนรูขุมขน เพื่อเป็นการเปิดช่องทางให้ผิวหนังได้ระบายความร้อนออกมาเช็ดตั้งแต่ส่วนบนคือ ใบหน้า ลำคอ แขน ลำตัวและขา โดยเฉพาะตามข้อพับ เช่น ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
- หลังเช็ดตัวเสร็จและตัวลูกแห้งดีแล้วให้สวมเสื้อผ้า แล้วใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำบิดหมาด วางบนหน้าผาก รักแร้ และซอกคอ เพื่อช่วยคลายความร้อน
- หลังเช็ดตัวอุณหภูมิควรลดลงประมาณ 1 องศาเซลเซียส แต่หากไข้ยังสูงก็ควรเช็ดตัวซ้ำ
- อาการไข้จะทำให้ลูกมีเหงื่อออก พ่อแม่ควรให้นมเพิ่มจากมื้อปกติ เพื่อให้ร่างกายของลูกได้รับน้ำเพิ่มขึ้น หรือถ้าให้นมแม่ก็ควรให้ดื่มน้ำเพิ่ม
- ถ้าลูกหายใจไม่สะดวกจนเกิดเสียงดังครืดคราด ให้เอาผ้าขนหนู ชุบน้ำวางข้างๆ เพื่อให้อากาศภายในห้องชื้นมากขึ้นและหายใจสะดวก หรืออาจใช้น้ำเกลือหยอดจมูกจะช่วยให้ลูกหายใจสะดวกขึ้น
ในส่วนของยานั้น พาราเซตามอลเพราะเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงในเด็ก จะมีทั้งยาแบบหยดสำหรับเด็กเล็ก ควรให้ทุก 4-6 ชม. เวลามีไข้ โดยพ่อแม่ต้องให้ปริมาณยาที่ถูกต้องตามใบกำกับยาอย่างเคร่งครัด