ฝึกการขับถ่ายให้เบบี๋..เมื่อไรและอย่างไรดี?

0

ในระหว่างที่เด็กกำลังเจริญเติบโต การควบคุมการขับถ่าย เป็นหนึ่งในความสามารถทางพัฒนาการที่มีความสำคัญต่อเด็กอย่างยิ่ง ซึ่งต้องอาศัยความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจของตัวเด็ก และการฝึกฝนจากผู้เลี้ยงดู โดยผู้เลี้ยงดูจะต้องมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการฝึกเด็กขับถ่าย

เด็กวัยแรกเกิดยังไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้ จะปัสสาวะโดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ครั้ง ความถี่จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเด็กอายุย่างเข้า 1 ขวบ และจะสามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะช่วงกลางวันได้เมื่ออายุ 2-2.5 ขวบ ควบคุมปัสสาวะในตอนกลางคืนได้เมื่ออายุ 2.5-3 ขวบ เมื่อเด็กอายุ 5 ขวบ การควบคุมปัสสาวะจะเริ่มดีขึ้นและใกล้เคียงผู้ใหญ่ ทั้งนี้ การฝึกการขับถ่ายควรเริ่มฝึก เมื่อลูกพร้อมหรือช่วงอายุประมาณ 18 เดือนขึ้นไป ไม่ควรบีบบังคับลูก เพราะจะทำให้ลูกเกิดความกดดัน และวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น

สัญญาณที่จะแสดงให้เห็นว่าลูกพร้อมในการฝึกการขับถ่าย

1. ลูกสามารถเดินได้คล่องเพื่อที่จะเข้าห้องน้ำหรือนั่งกระโถน

2. ลูกนั่งกระโถนหรือนั่งชักโครกได้อย่างมั่นคง

3. ลูกสามารถควบคุมปัสสาวะได้ดีพอควรโดยสังเกตจากการไม่ปัสสาวะห่างกัน 2-3 ชั่วโมง

4. ลูกสามารถเข้าใจคำสั่ง 2 ขั้นตอนได้ เช่น ถอดกางเกง แล้วไปเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

5. ลูกสามารถสื่อสารได้ว่าต้องการจะปัสสาวะหรืออุจจาระ อาจเป็นการสื่อสารด้วยคำพูดหรือใช้ท่าทาง

6. ลูกให้ความร่วมมือและอยากฝึกบนพื้นฐานของความต้องการเป็นตัวของตัวเองซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการของลูกวัยนี้

7. ฝึกภายใต้บรรยากาศและความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่และลูก

ขั้นตอนในการฝึกลูกขับถ่าย

1. ใช้คำแทนการปัสสาวะหรืออุจจาระง่าย ๆ กับลูก เช่น ฉี่ อึ กระโถน ส้วม

2. เปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการฝึก เช่น เลือกว่าจะนั่งกระโถนหรือนั่งชักโครก

3. ในช่วงต้น ควรสร้างความคุ้นเคยโดยให้ลูกนั่งกระโถนหรือส้วมโดยยังไม่ต้องถอดเสื้อผ้า และพ่อแม่อาจลองนั่งให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง เมื่อคุ้นเคยแล้วเริ่มให้นั่งโดยถอดกางเกงและให้นั่งหลังมื้ออาหารอย่างสม่ำเสมอ

4. ให้กำลังใจและแสดงความชื่นชมเมื่อลูกทำได้ อย่าเล็งผลเลิศในทันทีที่ฝึก ไม่คาดคั้นลูกเมื่อลูกทำไม่ได้ ไม่ตำหนิเมื่อลูกทำเปื้อนหรือสกปรก การฝึกขับถ่ายนั้นจะไม่มีการลงโทษหรือว่ากล่าวตักเตือนที่รุนแรง เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อันใดแล้วยังก่อให้เกิดโทษ ลูกจะต่อต้านและอาจเกิดปัญหากลั้นปัสสาวะหรือท้องผูกตามมา หากลูกปฏิเสธควรหยุดการฝึกไว้ก่อน และเริ่มฝึกใหม่เมื่อลูกพร้อม

นอกจากนี้ พ่อ แม่ ผู้เลี้ยงดู ควรดูแลเรื่องการกินของเบบี๋ให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก โดยดูแลให้ลูกขับถ่ายเป็นเวลา รับประทานอาหารที่มีกากใยเพียงพอ ไม่ดื่มนมในปริมาณที่มากเกินไป เนื่องจากนมมีปริมาณไขมันมาก ทำให้การเคลื่อนตัวของลำไส้ช้าลงและจะทำให้การฝึกขับถ่ายยากขึ้น เพราะถ้าเด็กท้องผูกจะกลัวเจ็บและไม่อยากขับถ่าย

แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในคราวแรก ๆ แต่หากปฏิบัติสม่ำเสมอ จะทำให้เด็กเรียนรู้และจดจำ จนสามารถควบคุมการขับถ่ายได้ในที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *