การ์ดอย่าตก! เด็กเล็กติดเชื้อโควิดสะสมกว่า 3 หมื่นราย

0

ยังคงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในบ้านเรา ในส่วนของเบบี๋ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนั้น ล่าสุดข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่าเด็กเล็ก 0-5 ปี ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 31,811 คน โดยติดจากคนใกล้ชิดที่เป็นผู้ป่วยมากที่สุด ไม่อยากให้เบบี๋สุดเลิฟเสี่ยงติดเชื้อ พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง!

จากรายงานสถานการณ์โควิด-19 เด็กปฐมวัย (0-5 ปี) พบเด็กติดเชื้อตั้งแต่ 1 เมษายน – 14 สิงหาคม 2564 จำนวน 26,513 คน เป็นคนไทย 22,982 คน ต่างชาติ 3,531 คน เสียชีวิตสะสม 5 คน และจากข้อมูลล่าสุด 21 สิงหาคม 2564 พบจำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น  5,298 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน คิดเป็นร้อยละ 3.7 เป็นคนไทย 4,773 คน ต่างชาติ 525 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 4 คน  เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน คิดเป็นร้อยละ 33 ส่งผลให้มียอดรวมเด็กติดเชื้อสะสม ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2564 จำนวน 31,811 คน เป็นคนไทย 27,755 คน ต่างชาติ 4,056 คน เสียชีวิตรวม 9 คน

โดยจังหวัดกรุงเทพมหานครพบมีการติดเชื้อสูงสุด 5,806 คน รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรสาคร 2,324 คน และ จังหวัดชลบุรี 1,993 คน สาเหตุที่ติดเชื้อมากที่สุดคือสัมผัสกับคนใกล้ชิดที่เป็นผู้ป่วยยืนยันมากที่สุด 18,807 คน โดยการติดและแพร่เชื้อในเด็กเล็กที่ผ่านมามักไม่ต่างไปจากการติดเชื้อในผู้ใหญ่แต่เด็กอาจจะมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากผู้ป่วยเด็กคนนั้นมีภาวะอ้วน เป็นโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก เบาหวาน หอบหืด หัวใจพิการแต่กำเนิด หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาทในบางรายส่งผลให้อันตรายถึงชีวิตได้

เพื่อเป็นการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สู่ครอบครัว ขณะอยู่บ้านขอให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติ ดังนี้

1. เว้นระยะห่างระหว่างกัน จำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ มีคนหนาแน่น 

2. สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน หากจำเป็นต้องดูแลให้เด็กกินอาหารผู้ปกครองควรแยกหรือเหลื่อมเวลาการกิน

3. หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ

4. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรทำงานที่บ้าน และประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน

สำหรับวิธีดูแลลูกในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด คือ ใช้เวลาตามลำพังกับลูก การใช้เวลาตามลำพังกับลูก จะทำให้ลูกรู้สึกว่ามีคนรักและห่วงใย รู้สึกปลอดภัย และทำให้รู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ โดยกิจกรรมที่สามารถทำได้กับลูกวัยทารกหรือวัยกำลังหัดเดิน เช่น ทำสีหน้าและออกเสียงเลียนแบบลูก, ร้องเพลง เคาะช้อนและกระป๋อง, เล่นของเล่นแบบต่อแท่งไม้หรือถ้วยพลาสติก, เล่านิทาน อ่านหนังสือ หรือดูรูปด้วยกัน

หากสังเกตอาการมีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูกหายใจไม่สะดวก อาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และถ้ามีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อควรตรวจและคัดกรองตนเองด้วย ATK เช่นกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *