ความผูกพันทางอารมณ์ หมายถึง ความผูกพันระหว่างพ่อแม่หรือบุคคลสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกับลูก เป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งทางจิตใจ นับเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรสร้างให้เด็กตั้งแต่แรกเกิด เพื่อให้เด็กเติบโตโดยมีความฉลาดทางอารมณ์ พร้อมเผชิญโลกภายนอกได้อย่างมีความสุขและเข้มแข็ง
คู่มือการเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์ สำหรับเด็กวัยแรกเกิด – 5 ปี ด้วย “กิน กอด เล่น เล่า” โดย แพทย์หญิงชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ และคณะ สถาบันราชานุกูล ระบุว่า ลูกที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู เลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และไวต่อสัญญาณที่ลูกแสดงออกมา สามารถตอบสนองได้สอดคล้องกับความต้องการของลูกได้อย่างรวดเร็ว และสม่ำเสมอ มีความใส่ใจในการปกป้องดูแลจะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มีความมั่นใจที่จะทำในสิ่งต่าง ๆ เมื่อมีผู้ดูแลที่ลูกรู้สึกผูกพันอยู่ใกล้ ๆ เกิดเป็นความผูกพันทางอารมณ์ ที่เหนียวแน่นระหว่างพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูและลูก
ส่วนสำคัญของความผูกพันทางอารมณ์ คือ การสร้างความมั่นใจ และความมั่นคงทางอารมณ์เพื่อให้ลูกมีความรู้สึกมั่นใจ มั่นคง และปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ความผูกพันทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูกับลูกค่อย ๆ พัฒนาตามลำดับ ลูกจะมีความมั่นใจ และความมั่นคงทางอารมณ์ได้นั้น ลูกจะต้องได้รับการดูแลอย่างเข้าใจ และทันท่วงที พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องเข้าใจว่าลูกต้องการการดูแลปกป้อง ต้องการคนให้กำลังใจ หรือต้องการคำชื่นชมเมื่อไหร่ อย่างไร พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูจะต้องทำความเข้าใจ ฝึกสังเกตความต้องการของลูก และให้การตอบสนองอย่างเหมาะสม
การตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ เมื่อลูกต้องการออกไปเล่น ไปค้นหา เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บนโลกใบนี้ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรสนับสนุนให้ความมั่นใจและเปิดโอกาส ควรปล่อยให้ลูกได้เล่น เมื่อลูกจะเดินออกไปเล่น พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรพยักหน้า ยิ้มให้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเขาสามารถเล่นได้ ขณะลูกเล่นให้มองอยู่ใกล้ ๆ อย่างห่วงใย พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่ควรขัดขวางหรือรบกวนการเล่นของลูก ไม่ควรห้ามเมื่อลูกอยากเรียนรู้ อยากออกไปเล่น หรือแสดงท่าทีกังวล กลัว รำคาญกับการที่ลูกจะเล่นหรือทดลองสิ่งใหม่
เมื่อลูกวิ่งกลับมาหาเพราะเหนื่อย หิว กลัว ให้รีบตอบสนองความต้องการนั้น ๆ อย่างรวดเร็ว เช่น การอ้าแขนรับ การโอบกอดให้ลูกหายตกใจ ยิ้ม พยักหน้าให้กำลังใจ หาน้ำขนมให้กิน หรือพาเข้าไปพัก โดยในช่วงที่ลูกวิ่งกลับมาหาเพื่อต้องการการดูแลหรือกำลังใจ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่ควรปล่อยปละละเลย หรือ ไม่สนใจความต้องการของลูกที่มีในขณะนั้น
ในกรณีที่ลูกแสดงพฤติกรรมแบบโหยหาต้องการความรักความสนใจ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องตอบสนองทันที เช่น เมื่อลูกหันมามองสบตายิ้มให้ ควรตอบสนองด้วยการยิ้มกลับ ลูบศีรษะ หรือชวนลูกเล่น เมื่อลูกมองหน้าชูแขนขึ้นต้องการให้กอด ควรตอบสนอง โดยการยิ้มรับรู้ แล้วอุ้ม หรือกอดอย่างนุ่มนวล เมื่อลูกมีอาการโยเย เหนื่อย กลัว ควรช่วยเหลือหรือตอบสนองด้วยการอุ้ม กอด หรือปลอบโยนด้วยความรู้สึกรัก และทะนุถนอม พื้นฐานของชีวิตเริ่มตั้งแต่วัยแรกเกิด – 5 ปี สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี และมีความฉลาดทางอารมณ์นั้น ต้องอาศัยการสร้างสัมพันธภาพ และความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูกับเด็ก