สุขภาพการนอนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเด็กมีปัญหาด้านการนอน ย่อมส่งผลกระทบถึงพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ ทั้งการเรียนรู้ อารมณ์ สติปัญญา หนึ่งในปัญหาด้านการนอนที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย คือ…
“ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก” อันมีสาเหตุมาจาก “ต่อมอะดีนอยด์โต”
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ได้แก่
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่เกิดจากการหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจแคบหรือตัน
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมการหายใจหรือกล้ามเนื้อ
ประเภทแรกจะพบได้ค่อนข้างบ่อยกว่า ในช่วงอายุประมาณ 2 – 6 ขวบ เพราะทางเดินหายใจของเด็กในวัยนี้ยังมีขนาดเล็ก หากยิ่งมีอาการป่วยเป็นหวัดบ่อยๆ จะยิ่งทำให้ต่อมทอนซิลกับต่อมอะดีนอยด์โตขึ้นจากการอักเสบ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก
ต่อมอะดีนอยด์สำคัญอย่างไร
สำหรับ “ต่อมอะดีนอยด์” (Adenoid) นั้น เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก มีโครงสร้างภายในใกล้เคียงกับต่อมทอนซิล มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรค และผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น สาเหตุที่ทำให้ต่อมอะดีนอยด์โต ได้แก่ การติดเชื้อเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง), โรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ของเยื้อบุโพรงจมูก หรือโรคแพ้อากาศ, การติดเชื้อเรื้อรังของต่อมอะดีนอยด์
อาการเบบี๋ที่มีปัญหา
เด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์โตจะมีอาการของทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น เช่น หายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงดัง นอนอ้าปากหายใจ นอนกรน สะดุ้งตื่นกลางดึก หายใจสะดุดหรือหายใจเป็นเฮือกๆ มีอาการไอ หรือมีอาการสำลักตอนนอน หรือมีภาวะหยุดหายใจ เป็นต้น ส่งผลให้การนอนหลับในตอนกลางคืนไม่มีคุณภาพ, นอนหลับได้ไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบมาถึงการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก
ภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยทำให้เกิดการขาดออกซิเจนในช่วงของการนอนตอนกลางคืน ซึ่งเป็นอันตรายได้ และยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตในปอดสูง
เด็กในช่วงอายุก่อนวัยเรียนหรือในระดับช่วงวัยอนุบาล จำนวนไม่น้อยมีอาการนอนกรน ซึ่งพ่อแม่ควรพาไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา หรือเกิดภาวะหยุดหายใจในขณะหลับได้