รวมกิจกรรมสำหรับเบบี๋เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่

0

กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว แขน ขา และเชื่อมต่อไปยังอวัยวะต่างๆ กล้ามเนื้อมัดใหญ่นั้น เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญของระบบการเรียนรู้ทั้งหมด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรทำคือการหากิจกรรมสำหรับลูกน้อยเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และประสานการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่

รวมกิจกรรมเพิ่มความแข็งแรงและประสานการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กอายุ 0 – 3 ปี

1. ให้เด็กนอนหงาย บนที่นอนไม่นุ่มมากเกินไป เพื่อเด็กจะได้ยกแขน ยกขา ขึ้น-ลง งอ-เหยียดด้วยตนเอง

2. ฝึกเด็กให้คอแข็งเพื่อชันคอได้ดีขึ้น โดยขณะตื่นให้เด็กนอนท่าคว่ำ เรียกชื่อเด็ก หรือเขย่าของเล่นที่มีเสียงเหนือศีรษะเด็ก หรือชูของเล่น เพื่อชี้ชวนให้เด็กเงยหน้ามอง เมื่อดึงตัวเด็กขึ้นจากท่านอนหงาย เด็กจะยกศีรษะตามตัว พ่อแม่/ ผู้ปกครองเอียงหน้าไปมาให้เด็กมองตาม

3. อุ้มเด็กพาดบ่าเพื่อให้เด็กชูคอ และมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หรืออุ้มเด็กโดยหันหน้าออก

มองข้างหน้า และเล่นกับเด็กด้านหน้า หรือโดยการชูของเล่นเพื่อหยอกล้อ เล่นกับเด็กอย่างสนุกสนาน พร้อมกับกระตุ้นให้เด็กขยับมือ ยกแขน-ขา ขึ้นลงเพื่อคว้าของเล่น

4. จัดที่นอนให้เด็กได้หัดพลิกคว่ำ พลิกหงายอย่างปลอดภัย เช่น จับเด็กตะแคงด้านขวาหรือด้านซ้าย แล้วใช้หมอนข้างเล็กวางไว้ด้านหลังของเด็กเพื่อช่วยหนุนให้เด็กสามารถพลิกคว่ำได้ง่าย

5. จัดที่มีพื้นเรียบ ไม่ขรุขระ และไม่เป็นอันตราย มีความปลอดภัยกับเด็กเพื่อให้เด็กหัดคืบ หรือหัดคลาน

6. ฝึกให้เด็กนั่งมั่นคง ด้วยการให้นั่งเล่นเอง เอาของเล่นที่เด็กหยิบ จับถนัดมือ วางไว้ด้านซ้าย หรือด้านขวาของเด็ก เพื่อให้เด็กเอี้ยวตัวไปคว้าของจากหลายๆ ทาง หรือวางข้างหน้าเด็กโดยมีระยะห่างพอสมควร เพื่อให้เด็กคืบ หรือคลานไปหยิบของเองได้ หรือให้เด็กนั่งตักแล้วเล่นโยกเยก โยกด้านซ้าย ด้านขวา และหน้า หลังกับเด็กเพื่อให้เด็กเกิดการเคลื่อนไหว

7. ถือของเล่นสีสดใสข้างหน้าเด็กในระดับสายตาของเด็กขณะนั่งอยู่บนพื้น หรือ ถือของเล่นให้เด็กมอง แล้วปล่อยของเล่นตกลงบนพื้นใกล้ตัวเด็ก โดยกระตุ้นให้เด็กมองตามของตก และให้โอกาสเด็กเอื้อม หรือหยิบของเล่นที่ตก

8. ชี้ชวนให้เด็กเคลื่อนไหว เช่น หัดเดินเกาะตัวพ่อมา หรือยืน หรือเกาะเดินรอบเก้าอี้หรือโต๊ะที่แข็งแรง โดยดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

9. จับมือเด็กทั้ง 2 ข้างจูงเดิน เมื่อเด็กลงน้ำหนักที่เท้าได้ดี ให้ปล่อยมือเด็กทีละมือ เพื่อฝึกให้เด็กยืนเอง และปล่อยมือทั้ง 2 ข้าง ในเวลาอันสมควรเพื่อให้เด็กยืนเอง หรืออาจเล่นเป็นเกมให้เด็กยืนบนเท้าพ่อแม่ ควรชมเชยเมื่อเด็กยืนเองได้ตามลำพัง

10. จัดพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กนั่ง เดิน วิ่งเล่นอย่างปลอดภัย ทั้งนี้พื้นที่อาจมีพื้นผิวหลากหลาย เช่น พื้นไม้บนบ้าน พื้นทราย

11. เล่นกับเด็ก ชวนเด็กเดิน วิ่งเล่น หรือวิ่งไล่ตาม

12. หาของเล่นให้เด็กเล่นผลักขนาดพอเหมาะกับมือ หรือลากจูงไปมา เช่น รถลาก กล่องกระดาษขนาดใหญ่ที่เด็กผลัก หรือดันให้เคลื่อนที่ได้

13. ฝึกให้เด็กนั่งเก้าอี้เด็กที่แข็งแรงมั่นคง เพื่อรับประทานอาหาร หรือ เล่นด้วยตนเองโดยมีผู้ใหญ่คอยระวัง

14. หาเครื่องเล่นที่เหมาะสมให้เด็กปีนป่าย โดยมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ ๆ คอยระวัง

15. ฝึกให้เด็กนั่งยองลงแล้วหยิบของที่ตกบนพื้น

กล้ามเนื้อมัดใหญ่ถือเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงวัย 0-5 ขวบ พ่อแม่จึงควรหมั่นสังเกตพัฒนาการของเบบี๋และดูแลให้ลูกทำกิจกรรมเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรงสมวัยอยู่เสมอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *