“กิจกรรมทางกาย” คืออะไร?
มันก็คือ… การเคลื่อนไหวร่างกายใดๆ ที่มีการใช้กล้ามเนื้อแบ่งได้เป็น 3 ระดับตามการเคลื่อนไหว ได้แก่ ระดับเบา ระดับปานกลาง และระดับหนัก โดยกิจกรรมทางกายสำหรับทารกมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างพัฒนาการสมวัย และยังปลูกฝังนิสัยให้รักความกระฉับกระเฉง
ข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสำหรับเด็กปฐมวัย คือ การให้เด็กได้เล่น และการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นอิสระ โดยไม่เลี้ยงเด็กภายในคอกกั้นในห้องหรือในบ้านเท่านั้น แต่ให้เด็กได้มีโอกาสวิ่งเล่น ปีนป่าย หรือออกไปมีกิจกรรมทางกายนอกห้องนอกบ้าน นอกอาคาร โดยมีผู้ปกครองดูแล เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสขยับเคลื่อนไหวร่างกายพัฒนาทักษะทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง
การเคลื่อนไหวร่างกายของเบบี๋ที่พ่อแม่ควรรู้
โดยหนังสือ ข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ
- มีกิจกรรมทางกายผ่านการเล่นที่หลากหลาย ในระดับเบา ปานกลาง และหนัก สะสมอย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน เน้นการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น คลาน ยืน เดิน วิ่ง กระโดด ขว้าง เตะ ปีน เป็นต้น โดยสามารถแบ่งการมีกิจกรรมทางกายออกเป็นช่วงๆ สะสม อย่างน้อยครั้งละ 10 นาทีได้ และมีกิจกรรมประเภทสร้างความแข็งแรง และอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ ผสมผสานไประหว่างการเล่น
- ลดการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น นั่ง หรือนอน บนรถเข็น หรือเก้าอี้
- ให้มีการเปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่ง หรือนอนราบ ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง (ยกเว้นช่วงนอนหลับ) ด้วยการลุกยืน เดิน เล่น วิ่งเล่น
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรให้เด็กดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นเกม เล่นมือถือ เพราะการที่เด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เด็ก ขาดการเคลื่อนไหวแล้ว ยังส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านภาษา ด้านการเรียนรู้และด้านสังคม
- เด็กอายุตั้งแต่ 2-3 ปี สามารถให้ดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ เล่มเกม เล่นมือถือได้ แต่ไม่ควรเกิน 15-30 นาทีต่อวัน ถ้าให้ดีที่สุดคือ ไม่ควรให้เด็กเล่นเลย จนกว่าเด็กจะอายุครบ 3 ปี
- เด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป สามารถให้เด็กดูโทรทัศน์เล่นคอมพิวเตอร์ เล่มเกม เล่นมือถือได้ แต่ไม่ควรเกิน 30-60 นาทีต่อวัน ผู้ปกครองอาจจำกัดการเล่นได้เฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ และหากิจกรรมอื่นทดแทน
กิจกรรมทางกายในวัยนี้จะเชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงของชีวิต รวมถึงสร้างเสริมนิสัยให้ติดตัวไปจนโต ดังนั้น อย่าคิดว่าลูกยังเล็กมาก ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมกิจกรรมทางกายนะคะ