“โรคเท้าปุก” เป็นโรคที่มีความผิดปกติของรูปเท้าตั้งแต่กำเนิดโดยเท้าจะมีลักษณะบิดหมุนเข้าด้านใน ซึ่งเกิดจากการเรียงตัวของกระดูกเท้า และรูปร่างของกระดูกเท้าบางตำแหน่งผิดปกติ รวมถึงการหดสั้นของเอ็น กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออ่อนของเท้า ทำให้เกิดการผิดรูป ทั้งนี้อาจเกิดได้ทั้งสองข้างหรือเพียงข้างเดียว
ข้อมูลจาก นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคเท้าปุกแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุ คือ
- เกิดจากตำแหน่งทารกในครรภ์ถูกผนังมดลูกกดทับ
- แบบไม่ทราบสาเหตุ
- เกิดจากกลุ่มอาการหรือโรคทางระบบประสาท
ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากพ่อแม่
คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเท้าปุก แม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์อาศัยในมดลูกที่มีน้ำคร่ำน้อย ท่าเด็กในครรภ์ที่มีการกดเบียดผนังมดลูก รวมทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางระบบประสาท เช่น อัมพาตสมอง
นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวินิจฉัยอาการโรคเท้าปุกแพทย์จะพิจารณาดูลักษณะรูปเท้า และอาจเอกซ์เรย์ ดูตำแหน่งรูปร่างของกระดูกเท้า รวมถึงการตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อตรวจหาโรคอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุร่วมด้วย
โรคเท้าปุกสามารถรักษาให้หายได้ แต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
โดยการรักษาจะต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ ซึ่งเริ่มจากการดัดเท้า และใส่เฝือกเพื่อให้รูปเท้าค่อยๆกลับมาปกติ ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย หรือย้ายเอ็นกล้ามเนื้อเพื่อให้รูปเท้ากลับมาปกติ ในเด็กแรกเกิดแพทย์จะแนะนำให้รักษาทันทีหลังคลอด เพราะหากปล่อยไว้เมื่อเด็กโตขึ้นอาจเดินผิดปกติ
โรคเท้าปุกสามารถป้องกันได้ตั้งแต่เมื่อคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์
โดยคุณแม่ควรรีบฝากครรภ์กับโรงพยาบาล และพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อตรวจอัลตราซาวด์พร้อมทั้งดูพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทารกตั้งแต่ในครรภ์ แพทย์จะให้คำแนะนำและวางแผนการรักษาล่วงหน้าได้
นอกจากนี้ คุณแม่ท้องควรงดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เด็กในครรภ์เป็นโรคเท้าปุกค่ะ