เราทราบกันดีว่า “นมแม่” เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกน้อย เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก แต่ปัญหาที่คุณแม่มือใหม่หลายคนไม่คาดคิด คือ เบบี๋กัดหัวนมขณะคุณแม่กำลังให้นม เรียกว่าสร้างความเจ็บปวด จนหม่ามี้บางคนเลิกให้ลูกกินนมตัวเองทั้งที่ยังไม่ถึงวัยหย่านมแม่เลยก็มี
วิธีรับมือเมื่อลูกกัดหัวนมแม่
โดย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
- ระหว่างที่ลูกกำลังดูดนม ให้ดึงความสนใจของลูกมาที่ตัวแม่ โดยการจ้องตา ลูบไล้ลูก หรือคุยกับลูก
- เตรียมวางนิ้วมือไว้ใกล้ๆ ปากลูก เมื่อเวลาลูกกัด ก็รีบสอดนิ้วเข้ากันไม่ให้กัดหัวนม
- เมื่อถูกกัดอย่าดึงลูกออกทันที หัวนมจะถูกดึงและลูกจะกัดแรงขึ้น
- ถ้าลูกกัดหัวนมให้ดันศีรษะลูกเข้าชิดกับเต้านม เพื่อให้หายใจไม่สะดวก หรือบีบจมูกลูกเบาๆ เพื่อให้อ้าปากคายหัวนมออก
- แสดงปฏิกิริยาให้รู้ว่าแม่เจ็บ แม่ไม่ชอบ เช่น ดุลูก บอกให้ลูกรู้ว่ากำลังทำให้แม่เจ็บ ถ้าไม่ได้ผล ให้ปิดเสื้อไม่ให้ดูดต่อ เอาลูกออกจากเต้าโดยใช้นิ้วมือสอดเข้าที่มุมปากลูก และวางลูกลง ให้ลูกเรียนรู้ปฏิกิริยาในทางลบของแม่ เมื่อรู้ว่าถูกลงโทษ ลูกก็จะไม่ทำอีก
- เมื่อลูกดูดโดยไม่กัดนมแม่ ก็ให้รางวัลโดยการพูดชม กอดหรือจูบลูก ซึ่งลูกจะเรียนรู้ได้
- เด็กบางคนจะกัดเวลาง่วง บางคนกัดเวลาหิว บางคนกัดเวลาอิ่ม บางคนกัดเวลาหลับ ให้สังเกตพฤติกรรมของลูกและเลือกเวลาให้นมที่ปลอดภัย
- เด็กบางคนจะกัดเมื่อน้ำนมไม่ไหลในขณะยังไม่อิ่ม ดังนั้นคุณแม่ควรพยายามกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมมากขึ้น โดยให้ลูกดูดบ่อยๆ และคุณแม่ดื่มน้ำและกินอาหารให้พอ
- เมื่อลูกหลับ ให้เอาลูกออกจากเต้า อย่าปล่อยคาไว้ ถ้าลูกร้อง ก็ปลอบโยน กอดลูกให้รู้สึกอบอุ่นใจ
- หาอย่างอื่นให้ลูกกัดแทน เช่น ของเล่นชนิดยางที่กัดได้ อาหารที่เหมาะสมกับวัย (ขนม ผัก ผลไม้ที่แข็งหน่อย เช่น ขนมปังกรอบ คุกกี้ แอปเปิ้ล)
สำหรับการรักษาอาการหัวนมแตกจากการถูกกัด ให้คุณแม่บีบน้ำนมทาหัวนม ปล่อยให้แห้งโดยไม่สวมเสื้อทับ น้ำนมจะช่วยสมานแผลให้หายเร็ว อย่าใช้ครีมทา และไม่ใช้สบู่ล้างหัวนม ซึ่งจะทำให้ผิวแห้งแตกง่าย
ลูกกัดหัวนมแม่เป็นเรื่องปกติที่แม่ทุกควรเตรียมตัวเตรียมใจไว้บ้าง อย่าเพิ่งท้อนะคะ ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมเบบี๋ ให้คิดซะว่ายอมอดทนเพื่อสุขภาพที่ดีของเจ้าตัวเล็กจากการดื่มน้ำนมแม่ค่ะ