ความพร้อมของระบบต่าง ๆ กับความต้องการอาหารที่เปลี่ยนไปของเบบี๋

0

การให้อาหารให้เหมาะสมตามวัยของทารก ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ เพราะเมื่อเด็กอายุมากขึ้น การให้นมแม่อย่างเดียวย่อมไม่พอเพียงต่อการเจริญเติบโตของทารก อย่างไรก็ตาม การเริ่มให้อาหารอื่นเร็วเกินไปอาจส่งผลเสียได้เช่นกัน ฉะนั้น สิ่งที่ต้องโฟกัสคือ ความพร้อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเบบี๋

1. ความพร้อมของระบบทางเดินอาหาร : ทารกแรกเกิดจะมี extrusion reflex โดยทารกจะห่อปากเอาลิ้นดุนอาหารออกมาเมื่อได้รับอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว เมื่อทารกอายุ 4-6 เดือน extrusion reflex ของลิ้นจะหายไป ทารกจะสามารถใช้ลิ้นตวัดอาหารลงสู่ลำคอ และกลืนอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวได้

น้ำย่อยที่สำคัญในการย่อยแป้ง คือ อะมิเลส จากตับอ่อน มีระดับต่ำในทารกแรกเกิดจนกระทั่งอายุประมาณ 6 เดือน นอกจากนี้ น้ำย่อย ไลเปส จากตับอ่อน เกลือน้ำดี และน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของทารกยังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ เมื่อทารกอายุประมาณ 4-5 เดือน กระเพาะอาหารจะหลั่งกรดและน้ำย่อย เปปซิน มากขึ้น ตับอ่อนจะหลั่งน้ำย่อย อะมิเลส และ ไลเปส เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การให้อาหารอื่นนอกจากนมแม่แก่ทารกอายุน้อย ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้เพราะโปรตีนและสารโมเลกุลใหญ่สามารถดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กของทารก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้

2. ความพร้อมของไต : ควรเริ่มอาหารตามวัยสำหรับทารก เมื่อไตสามารถขับถ่ายของเสียและทำให้ปัสสาวะเข้มข้นได้มากพอ เพื่อให้สามารถขับถ่าย renal solute load ได้แก่ ยูเรียและโซเดียมได้ดี ทารกแรกเกิดมีอัตราการกรองของไต ประมาณร้อยละ 15 ของผู้ใหญ่ และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับคือ ร้อยละ 60 เมื่ออายุ 6 เดือน และเท่ากับผู้ใหญ่เมื่ออายุ 2 ปี

ความสามารถในการทำให้ปัสสาวะเข้มข้นของทารกแรกเกิดมีเพียงร้อยละ 50-60 ของผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 2-3 เดือน สามารถทำให้ปัสสาวะเข้มข้นได้ 1,000 มิลลิออสโมล/ลิตร และเมื่ออายุประมาณ 1 ปีจะได้ 1,100 มิลลิออสโมล/ลิตร (เมื่ออายุ 2 ปี จึงสามารถทำปัสสาวะให้เข้มข้นได้เท่าในผู้ใหญ่) ไตของทารกแรกเกิดยังไม่สามารถขับถ่าย ยูเรียและฟอสฟอรัสทางปัสสาวะได้ดี ดังนั้น ถ้าทารกได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูงมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะยูเรียในเลือดสูง และเลือดเป็นกรดได้

3. ความพร้อมของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ : ทารกอายุ 4-6 เดือน มีความพร้อมในการกินอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว ทารกสามารถควบคุมการทรงตัวของศีรษะและลำตัวได้ดี เริ่มใช้มือคว้าของเข้าปากได้ extrusion reflex ของลิ้นลดลง แสดงกิริยายอมรับอาหารเมื่อหิวหรือปฏิเสธอาหารเมื่ออิ่มได้ จึงช่วยป้องกันการให้อาหารมากเกินไปซึ่งจะทำให้เกิดโรคอ้วน

เมื่อพิจารณาความพร้อมของระบบต่าง ๆ แล้ว จึงเริ่มให้อาหารตามวัยสำหรับทารก เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน เพื่อฝึกให้รู้จักอาหารอื่นนอกจากนม ฝึกทักษะการกลืนอาหาร จะช่วยให้ทารกกินอาหารทดแทนนมได้ 1 มื้อเมื่ออายุครบ 6 เดือน

ทั้งนี้ ในกรณีที่เบบี๋มีน้ำหนักตัวเพิ่มน้อยหรือไม่เพิ่ม หรือไม่สามารถให้นมแม่ได้อย่างเต็มที่ อาจให้อาหารตามวัยสำหรับทารกก่อนอายุ 6 เดือนได้ แต่ไม่ก่อนอายุ 4 เดือน และให้นมแม่ต่อเนื่องถึงอายุ 2 ปี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *