ปัจจุบันหลายคนทำงานจำนวนมากถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่า และมักทำงานกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งนั่งท่าเดิมนานๆ ก้มหน้าพิมพ์งาน ไม่เคลื่อนไหว หรือมองจอเพื่ออ่านข้อมูลต่างๆ เป็นเวลานาน ย่อมส่งผลเมื่อยตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระดูกข้อต่อเสื่อม และอาจรุนแรงถึงขั้นก่อโรคต่างๆ ได้ในอนาคต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า…
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 20.2 ล้านคน จำนวนนี้เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 15 – 59 ปี จำนวน 14.4 ล้านคน หรือร้อยละ 71.2 ซึ่งการนั่งดูจอคอมพิวเตอร์นานๆ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดปัญหา
ซึ่งปัญหาที่พบโดยส่วนมาก มีตามนี้ค่ะ
1. การใช้สายตานานๆ ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าสายตา
ยิ่งแสงในห้องไม่พอ หรือจ้ามากเกินไป ระยะจอไม่เหมาะสม จะยิ่งทำให้เกิดการใช้กล้ามเนื้อสายตามาก ปรับสายตามาก เกิดสายตาสั้นหรือยาวตามมาได้ รวมถึงการอักเสบของตา ตาแห้ง ความหล่อลื่นไม่พอ จนทำให้กระจกตาอักเสบได้
2. การอักเสบของกล้ามเนื้อ
เนื่องจากท่านั่งไม่เหมาะสม มีการเอี้ยวตัวหยิบของที่ไกลเกิน หรือผิดท่า ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ ฉีกขาด หรือข้ออักเสบได้ นอกจากนี้ การก้มหน้าคีย์ข้อมูลนานๆ อาจทำให้กระดูกข้อต่อคอเสื่อม ทับเส้นประสาทได้ เพราะศีรษะมนุษย์มีน้ำหนักมาก
โดยผลสำรวจพนักงานที่ทำงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจำนวน 400 คน พบว่า ร้อยละ 60 มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ
- ปวดหลังเรื้อรัง
- ไมเกรน หรือปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากความเครียด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
- มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก ทั้งนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือยังทำพฤติกรรมเหล่านี้ซ้ำๆ ความรุนแรงก็จะเพิ่มตามลำดับ
อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ คือ “โรคออฟฟิศซินโดรม” สาเหตุเกิดจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม อยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ ไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบของอวัยวะส่วนต่างๆ อาทิ การอักเสบของกล้ามเนื้อคอ ไหล่ และสะบัก ซึ่งในอดีตมักพบในกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 40 ปี ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 20 กว่าปี เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น
การนั่งทำงานด้วยท่าทางที่ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงดูแลดวงตาด้วยการหมั่นพักสายตาเป็นระยะๆจะช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการอันเกิดจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆได้บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ