ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี จะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษตามธรรมชาติ ได้แก่ เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย และเห็ดเกล็ดดาว โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตที่พบบ่อย คือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก (เห็ดสะงาก) และเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้ ซึ่งข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2557 มีรายงานผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษรวม 1,200 ราย เสียชีวิต 10 ราย
การเก็บเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติมากิน จะต้องเป็นเห็ดที่รูปร่างสมบูรณ์ เก็บให้ครบทุกส่วนโดยขุดให้ลึก อย่าเก็บเห็ดหลังพายุใหม่ๆ เพราะสีบนหมวกของเห็ดบางชนิดอาจถูกฝนชะล้างให้จางลงได้ ไม่เก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟ หรือข้างถนน
เนื่องจากเห็ดสามารถดูดซับสารพิษและโลหะหนักไว้ในตัวได้มาก เห็ดที่ไม่เคยกินมาก่อนควรกินเพียงเล็กน้อยเพราะอาจมีอาการแพ้ได้ และห้ามกินเห็ดดิบๆ เด็ดขาด ไม่ควรเก็บเห็ดหรือหาซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารที่สำคัญก่อนนำเห็ดมาปรุงอาหารควรล้างผ่านน้ำหลายๆ ครั้ง หรือล้างตามขั้นตอนการล้างผัก
วิธีการสังเกตเห็ดพิษ คือ เห็ดที่มีสีน้ำตาล เห็ดที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นในมูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์
อย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที และเมื่อดื่มสุราไปด้วย ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะเป็นตัวนำทางให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก และอย่าบริโภคเห็ดป่าที่ดอกยังตูมๆ หรือเรียกว่า เห็ดอ่อน เนื่องจากจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกภายนอกจะเหมือนกัน
หากเผลอกินเห็ดพิษเข้าไปจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลช่วยเหลือก่อนส่งโรงพยาบาล โดยทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุดด้วยการดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอออก หรือใช้ผงถ่านผสมน้ำอุ่นเพื่อดูดพิษ ลดการดูดซึมเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีพร้อมนำเห็ดที่กินไปด้วย