ยังคงมีข่าวคราวปรากฏให้ได้เห็นอยู่เนืองๆ สำหรับพฤติกรรมการฆ่าตัวตายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ซึ่งการถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายในลักษณะเช่นนี้ ไม่สามารถเซนเซอร์ได้ในขณะออกอากาศ และหากมีผู้ติดตามจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง ที่น่ากลัวมาก คือ ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบได้
“พฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย”
เป็นพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตายของคนอื่น โดยการได้รับข้อมูล การเห็นภาพ การได้ฟังการบรรยายพรรณนาในเรื่องฆ่าตัวตาย หรือวิธีการฆ่าตัวตายจากสื่อทีวีหรือสื่ออื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ที่มีการเข้าถึงสื่อต่าง ๆได้ง่าย ทั้งสื่อออนไลน์และอินเตอร์เน็ต ผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้วหรืออาจเคยมีความคิดอยากตายหรือมีปัญหาทุกข์ใจคล้ายๆ กันกับผู้ตายได้
สาเหตุการฆ่าตัวตายเกิดจากการมีปัญหาในการดำเนินชีวิตมากกว่าหนึ่งปัญหา คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มหรือมีความคิดฆ่าตัวตายระดับหนึ่ง เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง จึงเสมือนเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
ที่สำคัญ หากผู้รับชมเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดคิดว่า การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องง่าย ได้รับการตอบรับจากผู้ชมจำนวนมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้น หากพบเห็นภาพเหล่านี้ ต้องรีบยับยั้ง อย่าแชร์ หรือบอกต่อ สนทนาเรียกสติผู้ที่คิดจะก่อเหตุให้หลุดจากห้วงอารมณ์นั้น หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปยังที่เกิดเหตุเร็วที่สุด และไม่ติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต
การแสดงออกถึงการจะทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือพฤติกรรม เช่น เริ่มแยกตัวอยู่ตามลำพัง บ่นไม่อยากมีชีวิต การส่งข้อความ ภาพ คลิปวีดีโอ ข่มขู่ตัดพ้อ หรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัยๆ หรือการโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ฆ่าตัวตาย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่จะเกิดการทำร้ายตนเองจริงได้ อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ แต่ต้องใส่ใจกับสัญญาณเตือนและช่วยยับยั้งความคิดนั้นให้ได้ เรียกสติเขากลับมาด้วยการรับฟัง ให้ข้อคิด ช่วยเปลี่ยนการตัดสินใจ
หากเราไม่สามารถจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง อาจช่วยได้โดยการเชื่อมต่อหาคนพูดคุยด้วย เช่น คนที่เขารัก ไว้ใจ หรือใกล้ชิดที่สุด ตลอดจน สายด่วนสุขภาพจิต หรือ 191 และสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว