ชัวร์ก่อนแชร์! 5 ประเด็นเกี่ยวกับฟัน จริงหรือเท็จ รู้ไว้ไม่พลาด

0

ฟัน เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย มีหน้าที่หลักในการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยในการออกเสียง และเป็นด่านแรกที่อาหารจะผ่านเข้าสู่ร่างกาย หากฟันไม่แข็งแรงหรือมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกายด้วย การมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลฟันอย่างถูกวิธีเพื่อให้มีสุขภาพฟันที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

5 ประเด็นเกี่ยวกับฟัน จริงหรือเท็จ รู้ไว้ไม่พลาด

ประเด็นที่ 1 : ขัดฟันด้วยผงถ่านคาร์บอน ช่วยทำให้ฟันขาว

ข้อเท็จจริง : ไม่ควรนำผงถ่านมาขัดฟัน เพราะผงถ่านคาร์บอนจะทำลายผิวเคลือบฟัน ทำให้ฟันสึก มีอาการเสียวฟัน อาจทะลุโพรงประสาทฟัน และทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าไปทำลายเส้นประสาทในฟัน เกิดฟันตาย เป็นหนองที่ปลายรากฟัน และเมื่อใช้ไปนานๆ ลิ้นอาจเป็นสีดำ เนื่องจากผงถ่านคาร์บอนมีขนาด 0.1-0.25 มิลลิเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าผงขัดในยาสีฟันกว่า 100 เท่า ทั้งนี้ การขัดฟันด้วยวัสดุหยาบทุกชนิดจะทำให้ผิวเคลือบฟันสึกได้

ประเด็นที่ 2 : ดื่มชาร้อนหรือกินของร้อนๆ​ เซลล์รากฟันจะตายทีละนิด และฟันอาจจะเปลี่ยนเป็นสีเทาได้

ข้อเท็จจริง : การที่ฟันเปลี่ยนสีเป็นสีเทา เป็นอาการแสดงหนึ่งของฟันที่มีประสาทฟันตาย ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การมีฟันผุ หรือฟันแตกหักทะลุโพรงประสาทฟัน หรือฟันที่ได้รับการกระแทกจากอุบัติเหตุ ส่วนความร้อนทำให้เกิดฟันตายได้หรือไม่นั้น โดยปกติแล้วในทางทันตกรรมมีการใช้ความร้อนเป็นเครื่องมือในการตรวจอย่างหนึ่ง เพื่อประเมินว่า ประสาทฟันซี่นั้นตายหรือมีการอักเสบหรือไม่ โดยความร้อนที่ใช้จะมีอุณหภูมิประมาณ 78-150 องศาเซลเซียส แตะที่ฟันประมาณ 5 วินาที ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของประสาทฟันสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาฯ และไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อประสาทฟันแต่อย่างใด ฉะนั้น การดื่มชาร้อนหรือกินของร้อนๆ จึงไม่สามารถทำให้เกิดประสาทฟันตายและฟันเปลี่ยนเป็นสีเทาได้

ประเด็นที่ 3 : หมอแนะนำให้เด็กอายุ 2-12 ปี ใช้แปรงสีฟันรูปตัวยู เพื่อลดปัญหาทางช่องปาก

ข้อเท็จจริง : รูปร่างของแปรงสีฟันรูปตัวยูไม่สามารถแปรงได้สะอาดทั่วจนถึงซี่ในสุด รวมถึงขนาดที่ไม่เหมาะกับช่องปากเด็ก ขนแปรงนิ่ม ไม่สามารถขจัดคราบจุลินทรีย์ได้หมด อีกทั้ง ยังทำให้ผู้ปกครองเข้าใจผิดและหลงเชื่อตามคำโฆษณา ซึ่งการใช้แปรงสีฟันปกติร่วมกับการแปรงฟันอย่างถูกวิธีก็เพียงพอในการทำความสะอาดฟันได้อย่างทั่วถึง

ประเด็นที่ 4 : ฟันผุติดต่อกันได้ผ่านการหอมหรือจูบ

ข้อเท็จจริง : ฟันผุไม่ใช่โรคติดต่อผ่านการหอมหรือจูบ เนื่องจากฟันจะผุได้ นอกจากเชื้อโรคแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย เช่น ความเป็นกรดของน้ำลาย การไหลของน้ำลาย สภาพของผิวฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาการสัมผัสของเชื้อโรคและกรดต่อผิวฟัน จนกระทั่งเกิดการทำลายของผิวเคลือบฟันและเนื้อฟันตามลำดับ ซึ่งต้องใช้เวลานานมากพออาจต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนจนเกิดการทำลายของผลึกเคลือบฟัน โดยการจูบในช่วงเวลาอันสั้น ไม่สามารถทำให้เกิดการติดต่อของฟันผุได้ แต่อย่างไรก็ตาม การจูบมีโอกาสส่งผ่านเชื้อโรคทางน้ำลาย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ หรือเริม นอกจากนี้ กรณีที่มีแผลในช่องปาก อาจทำให้เกิดการติดต่อของโรคติดต่อผ่านทางเลือดได้อีกด้วย เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส เป็นต้น

ประเด็นที่ 5 : ยางมะม่วงหาวมะนาวโห่  แก้เลือดออกตามไรฟัน

ข้อเท็จจริง : ไม่มีงานวิจัยทั้งระดับพรีคลินิกและคลินิกที่ศึกษาการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่จะบ่งชี้ว่ายางมะม่วงหาวมะนาวโห่สามารถแก้เลือดออกตามไรฟันได้ แม้จะพบงานวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้านใช้ส่วนผลรักษาอาการเลือดออกทางไรฟัน (ซึ่งไม่ส่วนของยาง) แต่งานวิจัยด้านการแพทย์พื้นบ้านที่กล่าวมานี้ไม่ได้ระบุวิธีการใช้รักษาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยางของพืชหากถูกผิวหนังอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้

ส่วนใหญ่แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นกับฟันนั้น เป็นผลพวงจากพฤติกรรมการกินและการดูแลช่องปากและฟันโดยตรง ดังนั้น เมื่อได้ข้อมูลที่แชร์ต่อๆ กันมาทางโลกโซเชียลไม่ควรเชื่อทันที ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วนและรอบด้านก่อน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *