สภาพการทำงานและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทำให้คนทั่วโลกมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย หรือการอยู่ในท่านั่ง ท่านอน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเก้าอี้ทำงาน การนั่งประชุม การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และการนั่งหรือนอน ดูโทรทัศน์ และใช้สมาร์ทโฟนล้วนนำไปสู่พฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น
จากการสำรวจพฤติกรรมคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ล่าสุด พบว่า…
คนไทยมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย หรือที่เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” (Sedentary Behavior) ซึ่งไม่รวมการนอนหลับ วันละ 14 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ผลการวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลร้ายต่อระบบการทำงานของร่างกาย ตั้งแต่การทำงานในระดับเซลล์ เช่น การหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลเสียไป การเผาผลาญน้ำตาล ไขมัน และพลังงานของร่างกายลดลง นำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนทั้งยังทำให้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4 โรค คือโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็งที่เป็นวิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศไทย
คนไทยควรมีพฤติกรรมเนือยนิ่งให้น้อยที่สุด โดยลุกยืน เดินไปดื่มน้ำ หรือเข้าห้องน้ำ หลังจากนั่งเก้าอี้ทำงานทุก 1 ชั่วโมง หรือการยืนทำงาน หากนั่งหรือดูโทรทัศน์ก็ควรขยับแข้งขยับขาระหว่างช่วงพักโฆษณา เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินหรือปั่นจักรยานมาทำงาน หรือการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน แทนรถส่วนตัว หรือจอดรถให้ไกลจากอาคารมากขึ้น หากต้องไปซื้อของใกล้บ้านควรใช้วิธีเดินหรือปั่นจักรยานแทนการนั่งขับรถ เป็นต้น
เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งเมื่อมีการประชุม ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดประชุมใหม่ อาทิ จัดรูปแบบการยืนประชุม โดยจัดเก้าอี้ให้น้อยลง และมีโต๊ะยืนให้ บริเวณด้านข้างและหลังห้องประชุม จัดให้มีการลุกยืนปรบมือให้กับวิทยากรทุกท่านเมื่อบรรยายเสร็จสิ้น เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ช่วยบรรเทาพฤติกรรมเนือยนิ่งระหว่างการประชุมได้เป็นอย่างดี